ประวัติหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง จังหวัดเพชรบุรี
วัดโตนดหลวงนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่งของเมืองเพชรบุรีแล้วยังเป็นวัดที่พระคณาจารย์ปรากฏเกียรติคุณด้านความเข้มขลังเรืองพุทธาคมหลายรูปนับแต่อดีตมาเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านพระครูพินิจสุตคุณหรือหลวงพ่อทองสุข อินทโชโต ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่แก่กล้าพระเวทย์วิทยาคมที่โดดเด่นประการหนึ่งคือด้านการลงกระหม่อม แม้พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์พหลโยธิน), พันเอกพระยาศรีสุรสงครามและจอมพลป. พิบูลสงครามยังมาขอให้ท่านลงกระหม่อมให้
หลวงพ่อทองศุขมีนามเดิมว่า ศุข ดีเลิศ เกิดเมื่อวันศุกร์ขึ้น 9 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคมพ.ศ.2420 เป็นบุตรของนายจู-นางทิม ดีเลิศ พื้นเพเป็นชาวบ้านทับใต้ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีพี่น้อง 6 คน ท่านเป็นคนสุดท้อง เมื่อท่านอายุได้ 9 ปี บิดามารดาย้ายถิ่นฐานครอบครัวไปประกอบอาชีพที่บ้านโพธิ์อำเภอบ้านลาดในปัจจุบัน และได้มีโอกาสเรียนหนังสือรวมถึงหนังสือขอมและบาลีจากท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ครั้งนั้นท่านชอบในการต่อสู้รักวิชาหมัดมวยกระบี่กระบอง ต่อมาภายหลังท่านมีศิษย์ในสายวิชาเหล่านี้หลายคน
ต่อเมื่ออายุ 15 ปี ครอบครัวได้ย้ายจากบ้านโพธิ์ไปอยู่ที่บ้านเพลง จังหวัดราชบุรี เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นหนุ่มคะนองชอบเที่ยวเตร่คบเพื่อน ไม่อยู่ติดบ้านชอบไปแสดงละครโขนหนังกับเพื่อนๆ จนมีความสามารถขนาดเป็นครูสอนผู้อื่นได้ ต่อมาได้เกิดความเบื่อหน่าย เที่ยวเตร่ไร้จุดหมายปลายทาง กระทั่งคบนักเลงอันธพาลในที่สุดกลายเป็นอาชญากรสำคัญในย่านเพชรบุรีราชบุรีและสมุทรสงคราม ต้องคอยหลบหนีอาญาบ้านเมืองหลบซ่อนตัวตามป่าเขาลำเนาไพรไร้ความสงบสุข
ครั้งหนึ่งได้หลบหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปซ่อนตัวอยู่โดยไม่มีอาหารตกถึงท้องเป็นเวลาถึง 3 วัน ทั้งอ่อนล้าหิวโหยเหลือสุดจะทน จนทำให้สำนึกได้ว่าที่ผ่านมาตนเองได้ดำเนินชีวิตผิดทางเสียแล้วทางสายนี้หากไม่กลับตัวกลับใจย่อมได้รับแต่ความทุกข์ ดังประสบอยู่ทรมานทั้งกายทรมานทั้งใจ เป็นการใช้ชีวิตที่ไร้ประโยชน์และแก่นสารโดยแท้ จึงตัดสินใจบวชเอาพระศาสนาเป็นที่พึ่ง
นายศุข ดีเลิศ อุปสมบทเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมพ.ศ.2452 ณ วัดปราโมทย์ ตำบลโรงหวี อำเภอบางคณที จังหวัดสมุทรสาคร มีหลวงพ่อตาด วัดบางวันทองเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อตุย วัดปราโมทย์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อคง วัดแก้วเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า อินทโชโต พำนักจำพรรษาที่วัดปราโมทย์ 4 พรรษาและวัดแก้ว 2 พรรษา ศึกษาพระธรรมวินัยและวิปัสสนากับหลวงพ่อตุย-หลวงพ่อคงผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์ด้วยความ มานะขยันหมั่นเพียร จึงได้รับถ่ายทอดวิทยาคมมาจนหมดสิ้น
ทั้งยังเป็นที่รักใคร่เมตตาของครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้อย่างไม่ปิดบังอำพรางจนครบถ้วนกระบวนความ และแนะนำให้ไปหาหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง หลวงพ่อตาด วัดบางวันทองนั้น ท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ท่านหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านจึงเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกันกับท่านหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม และท่านหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ยังได้ศึกษาวิชาจากหลวงปู่นาค วัดหัวหินประจวบคีรีขันธ์อีกด้วย
หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ยุคนั้นท่านได้ชื่อว่าเป็นพระคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญพระเวทย์วิทยาคมแตกฉานในวิปัสสนากัมมัฏฐานยิ่ง เกียรติคุณขจรขจายทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง ศิษยานุศิษย์หลายรูปต่อมาปรากฏเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังเช่น หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม เป็นต้น ปี พ.ศ.2457 หลวงพ่อเทียน วัดโตนดหลวง ถึงแก่มรณภาพ ขณะนั้นท่านหลวงพ่อทองศุข ออกธุดงค์ผ่านมากับสามเณรจันทร์ (จันทร์ธมฺมสโร วัดมฤคทายวัน) ชาวบ้านศรัทธาท่านหลวงพ่อทองศุขจึงได้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสในปีพ.ศ.2458
ท่านหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านปกครองดูแลพระภิกษุ-สามเณรด้วยความเอาใจใส่พัฒนาพระอารามให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาด้วยคุณงามความดีของท่าน คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้ท่านเป็นพระครูกรรมการศึกษา กระทั่งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูพินิจสุตคุณ หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านพัฒนาวัดและชนบทย่านนั้นจนมีความเจริญเป็นอันมาก กิจนิมนต์ด้านการเป็นพระอุปัชฌาย์ แม้วัดห่างไกลเพียงใดท่านหลวงพ่อทองศุขไม่เคยปฏิเสธ
แม้บางแห่งต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าเป็นระยะทางหลายสิบกิโลก็ตาม ท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธา ของศิษยานุศิษย์ทุกหมู่เหล่า คราใดทางวัดมีงานบรรดาศิษย์ต่างพร้อมใจร่วมใจกันทำด้วยดีเสมอมา หลวงพ่อทองสุข อินทโชโต วัดโตนดหลวงได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2500 รวมสิริอายุ 80 ปี 48 พรรษา รวมระยะเวลาเป็นเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวงนานถึง 42 ปี
สำหรับเครื่องรางของขลังของท่านหลวงพ่อทองศุขมีด้วยกันหลายอย่าง รวมถึงการสักยันต์เหนือราวนมอานุภาพจะเด่นทางยิงฟันแทงไม่เข้า ตะกรุดมีทั้งประเภทหนังเสือและตะกรุดเนื้อเงิน(มีน้อยมาก) เนื้อโลหะและตะกรุดไม้รวก สำหรับตะกรุดเนื้อโลหะนั้นแบ่งเป็น ตะกรุดโทน ตะกรุดชุด 7 ดอก และตะกรุดสามกษัตริย์ ซึ่งจะมีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ตะกรุดสาริกายาวประมาณ 1 นิ้ว
เอกลักษณ์ในตะกรุดของท่านคือ ตะกรุดทุกดอกจะพอกด้วยครั่งพุทธา วรรณของครั่งจะออกแดงอมน้ำตาลถึงดำ การพิจารณาลักษณะของครั่งนี้ต้องพิจารณาถึงอายุความเก่าด้วย สืบเนื่องมาจากต่อมา หลวงพ่อแผ่ว ปัณฑิโต ซึ่งเป็นศิษย์เอกของท่านองค์หนึ่งและเป็นเจ้าอาวาสรูปต่อมาของวัดโตนดหลวง ก็มีการจัดสร้างตะกรุดลักษณะเดียวกันนี้แต่ลักษณะครั่งที่พอก จะแลดูสดใหม่กว่า
อักขระยันต์ที่ใช้ลงในตะกรุดนั้นเป็นยันต์ตรีนิสิงเห อานุภาพในตะกรุดโทน ตะกรุดชุด 7 ดอก และตะกรุดสามกษัตริย์จะเด่นทางแคล้วคลาดคงกระพันชาตรี ส่วนตะกรุดสาริกาจะเด่นทางเมตตามหานิยม ลูกอมของท่านหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ลักษณะที่เป็นมาตรฐานคือทำจากเนื้อครั่งพุทราลักษณะเดียวกันกับที่ใช้พอกตะกรุด อานุภาพเด่นทางมหาอุด แหวนมีด้วยกันหลายลักษณะอานุภาพจะเด่นทางป้องกันอสรพิษและสัตว์ร้ายต่างๆ
ตะกรุดหนังหน้าผากเสือพอกครั่ง หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง จังหวัดเพชรบุรี(มีคลิป)
หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านคือสุดยอดเกจิย์แห่งเมืองเพชรบุรี สมญานามวัตถุมงคลของท่านก็คือ ครั่งเหลือร้ายวัดตะโตนดหลวง แม้แต่แมลงวันก็ไม่มีทางได้ดื่มเลือด สรรพคุณของครั่งหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ครั่งที่ใช้พอกนี้หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวงท่านได้ผสมว่านสมุนไพรมีสรรพคุณในทางถอนพิษร้ายต่างๆ รวมทั้งผสมผงพระจันทร์ครึ่งซีก พระพุทธคุณสุดยอดทางเสน่ห์เมตตามหานิยมลึกล้ำ แรงยิ่งกว่าผงอิทธิเจทั่วไปหลายเท่านัก ทำได้ยากที่สุด
ต่อมาวิชานี้หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง ท่านได้รับสืบทอดวิชานี้ไป ตะกรุดหนังหน้าผากเสือพอกครั่งของ หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ดอกนี้นั้นถือว่าหาได้ยากเป็นอย่างมาก ว่ากันว่าท่านหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านได้หนังเสือมาผืนหนึ่งในระหว่างที่ท่านออกธุดงค์ พอกลับจากธุดงค์มาถึงวัดโตนดหลวงแล้ว หลวงพ่อทองศุขท่านก็เอาหนังเสือผืนนั้นมาแบ่งทำเป็นตะกรุดและลูกอมพอกครั่งจนหมดผืน
ซึ่งจะเป็นยุคต้นๆของการสร้างวัตถุมงคล ครั่งเหลือร้ายวัดตะโตนดหลวงของท่านหลวงพ่อทองศุข ตะกรุดหนังหน้าผากเสือพอกครั่งวัดโตนดหลวงดอกนี้จึงมีน้อยที่ได้สร้างจากหนังเสือที่ท่านหลวงพ่อทองศุขได้มาเพียงผืนเดียว จึงจัดเป็นวัตถุมงคลที่หาได้ยากยิ่งของ ท่านหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านใดมีบุญได้ไว้ในครอบครองก็จะถือว่าเป็นที่สุดของวัตถุมงคล ครั่งเหลือร้ายวัดตะโตนดหลวงของท่านหลวงพ่อทองศุขแล้วครับ
ทีมงานกะฉ่อนดอทคอมขอขอบคุณ คุณวิทย์ วัดอรุณ(อัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์) เจ้าของตะกรุดหนังหน้าผากเสือพอกครั่งวัดโตนดหลวงดอกนี้ หนึ่งในผู้ที่เคารพและศรัทธาในองค์หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ที่ได้เอื้อเฟื้อภาพที่หาชมได้ยากยิ่ง มาให้พวกเราทีมงานกะฉ่อนดอทคอมนำมาประกอบสกู๊ป ตะกรุดหนังหน้าผากเสือพอกครั่ง หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง
ประวัติหลวงปู่พิมพ์มาลัย วัดหุบมะกล่ำ ต้นตำรับแห่งวิชาเข็มทองคนองฤทธิ์
ปฐมบท อานุภาพแห่งเข็มทองคนองฤทธิ์
สิ่งที่จะนำเสนอต่อท่านผู้อ่านต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของไสยเวท ที่เป็นภูมิปัญญาสยามที่อาจหาญกล่าวได้เต็มอย่างปากว่า เป็นของจริง และพิสูจน์ที่ไหน เมื่อใหร่ก็ได้ ไม่ใช่ลมปากที่พ่นออกไป และหาสาระพิสูจน์ไม่ได้ จนลูกหลานชาวสยามบางหมู่ที่หลงไหลภูมิปัญญา ขยะของชาติตะวันตกที่ไม่ใช่เครือญาติ ของพวกเขากล่าวหยามหยันสิ่งที่พวกเขาไม่เคยสัมผัส หรือจะคิดจะเข้ามาพิสูจน์จน เป็นการปรามาท บรรพชนเทือกเถาเหล่ากอของเขาเอง วิชาไสยเวทที่กล่าวถึงนั้น คือวิชาเข็มทองคนองฤทธิ์ ภูมิปัญญาตันตระแห่งสยามในอดีต ที่ผ่านพ้นกาลเวลามาพิสูจน์สัจจะแห่งศาสตร์ในปัจจุบัน
วิชาเข็มทองที่กล่าวถึงอย่าเพิ่งคิดว่า เป็นการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคอย่างชาวจีนโพ้นทะเล เขาทำกัน แต่เป็นวิชาไสยศาสตร์สาขาหนึ่ง ที่มีอานุภาพอเนกประการ ซึ่งก่อนจะสาธยาย ถึงรายละเอียดจะขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จัก ประวัติพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่ง แม้ว่าท่านจะ ละสังขารแล้วแต่เรื่องราวของท่าน เป็นตำนานสะท้านวงการไสยเวท สยามมาจนถึงปัจจุบัน พระเถระผู้ทรงอิทธิจิตรูปนั้นมีนามว่า หลวงปู่พิมพ์มาลัย แห่งวัดหุบมะกล่ำ ปรามาจารย์ วิชาเข็มทองคนองฤทธิ์ แห่งสยามยุค รัตนโกสินทร์
วัดหุบมะกล่ำตั้งอยู่บ้านหนองรี ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ถ้าเราเดินทางจากกรุงเทพฯไปทางถนนเพชรเกษมก็อยู่ราวประมาณ 70 กว่ากิโลเมตร วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่จะมีมาแต่ครั้งสมัยอยุธยาหรือไม่นั้นยังไม่พบหลักฐาน บรรดาโบราณวัตถุที่ พบก็บอกหลักฐานเพียงว่าสมัยรัตนโกสินทร์แต่วัดนี้นับว่าน่าจะก่อตั้งมานานกว่า เพราะพบตำราสรรพวิชาสาขาต่างๆมากมาย ทั้งที่เป็นภาษาขอมและมอญก็มีให้เห็นและที่มีอายุนานนับร้อยปีก็หลายเล่ม
หลวงปู่พิมพ์ (มาลัย) พื้นเพท่านเป็นคนหนองรีโดยกำเนิด โยมบิดาชื่อว่า พา โยมมารดาชื่อ อ่วม เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี ท่านเกิดในสกุล มาลัย ประมาณ พ.ศ.2441 ที่บ้านหนองรีนี่เอง ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 5 คน ชีวิตในวัยเยาว์ท่านดำเนินอย่างเรียบง่ายเหมือนชาวชนบททั่วๆ เมื่ออายุครบเกณฑ์ท่านได้เข้าเป็นทหารรับใช้ชาติในหน่วยเสนารักษ์ในจังหวัดราชบุรีและอยู่ต่อเรื่อยมาจนประมาณ ๖ ปี ก็เกิดเบื่อหน่ายในฆารวาสวิสัย ชะรอยจะเป็นบารมีที่ท่านสร้างสมมาในอดีตจึงมีวาสนากับผ้ากาสาวพัสตร์
นิยมในเพศบรรพชิตจึงลาออกจากทหาร มาอุปสมบทที่วัดโตนดหลวง จังหวัดเพชรบุรี โดยมี พระอาจารย์แช่ม วัดบางนา เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปูทองศุข อินทโชโต วัดโตนดหลวง(พระเถระรูปนี้ท่านเป็นผู้ทรงวิทยาคมที่ยิ่งยงมากท่านหนึ่ง) เป็นพระกรรมวาจา เมื่ออุปสมบทแล้ว พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า มาลโย เมื่อท่านหลวงปู่พิมพ์ซึ่งขณะนั้นเป็นภิกษุใหม่ก็ได้ร่ำเรียนพระวินัย และปริยัติตามแนวทางแห่ง พระพุทธศาสนาอย่างคร่ำเคร่ง แล้วท่านยังได้รับความเมตตาถ่ายทอด วิชาไสยเวทย์จากหลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวง
ซึ่งถือว่าเป็นพระคณาจารย์ ที่มีชื่อเสียงและบารมีมากรูปหนึ่ง ในสยามขณะนั้น ถึงขนาดมีการร่ำลือว่าผู้ที่มีบุญบารมีสูงยิ่งของประเทศในขณะนั้น ยังมาฝากตัวเป็นศิษย์ จนเป็นตำนานเล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน อาจเป็นเหตุที่หลวงปู่พิมพ์ ท่านมีศักดิ์เป็นหลานสนิทของหลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวง โดยที่โยมมารดา ของท่านเป็นพี่สาวหลวงปู่ทองศุข จึงทำให้ท่านได้รับความเมตตามากเป็นพิเศษ ท่านหลวงปู่พิมพ์ แม้จะมีศักดิ์เป็นหลานหลวงปู่ทองศุขทท่านก็ไม่ถือดี กลับตั้งมั่นมุ่งมานะฝึกฝนเล่าเรียนสรรพวิชา
ที่หลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวง เมตตาสั่งสอนให้โดยไม่ปิดบังอำพราง ด้วยความวิริยะ และบุญบารมี ที่ท่านหลวงปูพิมพ์ สั่งสมมาในอดีต ไม่นานท่านก็สำเร็จวิชาต่างๆทำได้เข้มขลังจนเป็นที่ไว้วางใจของหลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวง ขนาดให้หลวงปู่พิมพ์(ซึ่งยังเพิ่งบวชได้ไม่นาน) เป็นอาจารย์สักยันต์ครูหลวงปู่ทองศุข(ตอนท่านก็ยังมีชิวิตอยู่) จนรวบรวมปัจจัยก่อสร้างกุฏิวัดโตนดหลวง ได้ถึงสองหลัง(พ.ศ.2481) นับว่าท่านหลวงปู่พิมพ์เป็นผู้หนึ่ง ที่สำเร็จวิทยาคมในตำหรับ หลวงปู่ทองศุข
โดยหลวงปู่ทองศุขเอง เป็นผู้ให้ความไว้วางใจ หลังจากที่ท่านได้สำเร็จวิทยาคุณในสายหลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวงแล้ว ท่านยังเป็นผู้ใฝ่การศึกษาก็ขวนขวายหา พระอาจารย์องค์อื่นๆเพื่อร่ำเรียนวิทยาคมต่อไป ในสมัยนั้นมีพระเถระรูปหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีที่ยิ่งยง ด้วยวิทยาคมที่แปลกประหลาด หาวิทยาคมสายใดจะเทียบเคียงได้ยาก ด้วยวิทยาคุณ ที่ประสิทธิให้ศิษย์ มีความพิศดาร และเป็นลักษณะเฉพาะและเป็นวิชาสูงสุดทางไสยเวทสยาม แขนงหนึ่ง
นั่นคือวิชาฝังเข็มทองคนองฤทธิ์นั่นเอง พระเกจิอาจารย์รูปนี้ ชื่อพระอาจารย์สมพงษ์ วัดหนองไม้เหลือง จังหวัดเพชรบุรี ในสมัยนั้นมี ผู้มาฝากตัวเรียนวิชาเข็มทองนี้ กับพระอาจารย์สมพงษ์กันเป็นจำนวนมาก แต่หาผู้ที่สำเร็จยากมาก เพราะต้องมีมานะบากบั่นทำจริง ฝึกกันจริงๆจึงจะสำเร็จได้ การฝังเข็มเป็นไสยเวท ที่มีมาช้านาน และเป็นความเชื่อของคนในสมัยนั้น การฝังเข็มนี่มีหลายตำรา ว่ากันทั้งเข็มเย็บผ้า เข็มสามกษัตริย์ เข็มสัตตะโลหะ แต่มักเป็นเข็มตาย คือฝังแล้วอยู่กับที่แบบฝังตะกรุดกับหลวงพ่อคูณที่วัดบ้านไร่ เมืองโคราช
แต่วิชาที่หลวงปู่พิมพ์ที่ท่านเรียน กับพระอาจารย์สมพงษ์นี้พิสดารกว่าครับ คือหากทำสำเร็จแล้วเข็มทองคำ ที่ประจุอาคมเมื่อฝังผ่านชั้นหนังจะแสดงอิทธิคุณ เหมือนมีชีวิตพลิกตัวระเบิดเนื้อด้วยอำนาจอาคม ไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย ผู้ฝังได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ เข็มนี้ไปได้ทั่วตัวเว้น ตากับหัวใจ ที่ลงอาคมกรึงไว้ อย่างแน่นหนา และเป็นเคล็ดสำคัญที่วิทยาคมสำนักอื่น มิอาจถอดถอนได้เลย เรื่องเข็มที่วิ่งไปได้ทั่วตัวนี่ไม่ใช่เรื่องที่คุยกันเล่นๆ มีหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานโดยการถ่ายพิมพ์เอกเรย์มาแล้ว
และผู้ที่ฝังเข็มหาก ถือองค์ภาวนาได้ จะสามารถเรียกเข็มทอง ให้ระเบิดเนื้อไปที่ส่วนใดๆของร่างกายโดยไม่เป็นอันตรายได้ เป็นความมหัศจรรย์อย่างเอกอุ ของวิทยาคมสายนี้ ส่วนอานุภาพของเข็มทอง เมื่อแสดงอิทธิฤทธิให้ประจักษ์ขนาดนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิเศษขนาดไหน เรียกได้ว่าครอบจักรวาลเลยทีเดียว เมื่อท่านหลวงปู่พิมพ์ได้รับ การถ่ายทอดวิชามาจากพระอาจารย์สมพงษ์ แล้วท่านต้องออกธุดงค์ เพื่อหาที่สงัดบำเพ็ญจิตให้เกิดอานุภาพ จึงจะสำเร็จวิชานี้ได้เพราะวิชานี้ หากพลังจิตไม่เข้มแข็ง อย่างเอกอุสุดยอดแล้ว จะไม่สามารถทำให้เข็มที่ฝังแสดงอานุภาพได้เลย
การฝึกฝนผู้เรียนต้องเพียรภาวนา ตามเคล็ดวิชาจนจิต มีกำลังเข้มแข็ง จึงจะทำให้เข็มทอง ที่เสกในน้ำมันงา ลอยขึ้นมาได้จึงจะถือว่าสำเร็จและ เข็มที่ประจุอาคมจนสำเร็จแล้วจะมีสภาพเป็นทิพย์ เดินเหินไปมาเองได้เป็นอัศจรรย์ เล่ามาถึงตรงนี้ขอยืนยันอีกครั้งว่า จริงทุกคำและพิสูจน์ได้ด้วย หลวงปู่พิมพ์ฝึกฝนวิชาเข็มจนเชี่ยวชาญ ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ผลแห่งความพากเพียรของท่าน ขนาดพระอาจารย์สมพงษ์ วัดหนองไม้เหลือง ผู้ประสิทธิวิชาเข็มทองให้ยังยกย่องท่านว่า ทำได้ดีกว่าอาจารย์เสียอีก