ประวัติพระครูวินัยธรรมแก้ว วัดพวงมาลัย
หลวงพ่อท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2393 ตรงกับปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรของนายเทียน และนางเนียม ทองพันธุ์ เป็นบุตรคนที่ 2ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 3 คน บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2403 ขณะมีอายุได้ 10 ปี ณ วัดบางแคใหญ่ อำเภออัมพวา อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. 2413 ณ วัดบางแคใหญ่ โดยมีหลวงพ่อเพ็ง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พฺรหฺมสโร ได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอุปัชฌาย์และเรียนหนังสือที่วัดนี้ ได้ศึกษาพุทธาคมครั้งแรกจากบิดาตอนเป็นสามเณรอายุ 15 ปี เนื่องจากบิดาของท่านเป็นทหารในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านนี้ ศึกษากับหลวงพ่อเพ็ง วัดบางแคใหญ่ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ จังหวัดเพชรบุรี (พี่ชายของท่าน)
ในปี พ.ศ. 2424 ประชาชนนิมนต์ท่านให้ไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดช่องลมเนื่องจากชื่อเสียงของท่านเริ่มโด่งดังในทางคุณวิเศษต่าง ๆ แล้วโดยมาพร้อมกับหลวงพ่อบ่าย ธมฺมโชโต ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ 6 ปี ก็ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดพวงมาลัย หลวงพ่อบ่ายจึงเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลมสืบแทน ผู้คนเชื่อว่าท่านมีคุณวิเศษ สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ที่อยู่ใกล้ตัวและไกลตัวของท่านทั้งในอดีตและในอนาคตได้อย่างแม่นยำ
นอกจากนี้ท่านยังได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูวินัยธรรม ฐานานุกรมในของพระราชาคณะรูปหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ารูปใด[1]
ท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2462 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมอายุได้ 69 ปี 49 พรรษา