ประวัติพ่อท่านยอด วัดอ่าวบัว
ด้วยความเคารพและนับถือ พ่อท่านยอด สุวณฺโณ เป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนต้องการที่จะเผยแพร่ ความดีและปฏิปทา ของพ่อท่านยอด จึงได้พยายามทบทวนความจำเมื่อสมัยเป็นเด็กที่เคยติดตาม เถ้าแก่มุยฮง ไปกราบพ่อท่านหลายครั้ง บางข้อมูลก็ฟังจากเถ้าแก่ เวลาที่คุยกับเพื่อนๆ และเล่าให้ฟัง บางข้อมูลก็จากหลักฐานบางอย่าง เช่น หนังสือ รูปถ่าย และวัตถุมงคลเก่าๆ ที่ได้เก็บเอาไว้ ซึ่งได้บันทึก วัน เดือน ปี ไว้อย่างชัดเจน จึงขอเปิดเผยไว้ในหนังสือเล่มนี้ คิดว่านอกจากผู้เขียนแล้ว คงจะไม่มีใครที่จะรู้เรื่องได้ละเอียดเท่านี้ จะมีก็คงน้อยมาก จึงเขียนไว้เพื่อเป็นประวัติส่วนหนึ่งของ พ่อท่านยอด สุวณฺโณ และวัดอ่าวบัว สืบไป
ขอบารมี พ่อท่านยอด สุวณฺโณ วัดอ่าวบัว ดลบันดาลให้ท่านประสบแต่ความสุข ความเจริญตลอดไป หลานพ่อท่านยอด สุวณฺโณ
ชีวประวัติ
พระอธิการยอด สุวณฺโณ (ยอด มณีพรหม)
เจ้าอาวาสวัดอ่าวบัว ต.เกาะใหญ่ อ.ระโนด จ.สงขลา
โดย… สมนึก รัตนวิไล ส. มณีพรหม
พระคุณผู้เกิดเกล้าพระอธิการยอด เสมือนกับมีทิพย์จักษุรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า จึงให้มงคลนามบุตรน้อยคนสุดท้องว่า “ยอด” เพราะพระภิกษุรูปนี้มีประวัติเป็นเลิศด้วยวัยวุฒิ เป็นพระผู้เฒ่าทรงคุณวุฒิ ภูมิธรรม ภูมิฐาน เป็นที่หนึ่ง ซึ่งจะหาพระภิกษุเปรียบเทียบได้โดยยาก ทั้งมีญาติมิตรศิษยานุศิษย์กว้างขวาง ควรจะได้จารึกชีวประวัติของท่านไว้ให้ครบถ้วน เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ถือเป็นแบบฉบับสืบไป ทั้งจะได้เฉลิมเกียรติอันสูงส่งของท่านให้เหมาะสม แต่กระดาษพิมพ์จำกัด จะบรรยายให้ละเอียดละออไม่ได้ ขอนำมาจารึกไว้เฉพาะแต่ที่สำคัญจำเป็นดังนี้
พระอธิการยอด สุวัณโณ เป็นบุตรนายพรหมแก้ว และ นางหอม มณีพรหม ชาตะเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2423 วันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง เวลาประมาณ 06.30 น. ในรัชกาลที่ 5 ณ บ้านทุ่งบัว หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
พระอธิการยอดมีพี่น้องร่วมบิดา 15 คน คือ
พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ชาตะจากนายพรหมแก้ว นางหอม 5 คน มีลำดับดังนี้
1. นายหนู มีภริยาชื่อ นางพุธแก้ว 2. นางพุธ มีสามีชื่อ นายปาน
3. นายเผิด มีภริยาชื่อ นางรอด 4. นายจันทร์แก้ว มีภริยาขื่อ นางนุ่น
5. พระอธิการยอด สุวณฺโณ องค์แห่งชีวประวัตินี้
พี่น้องต่างมารดากัน ชาตะจากนายพรหมแก้ว นางแป้น 10 คน มีลำดับดังนี้
1. นายพลับ (ไม่ปรากฎมีบุตรภริยา) 2. นายปลอด มีภริยาชื่อ นางกิ้ม
3. นายขำ มีภริยาชื่อ นางสี 4. นางนิ่ม มีสามีชื่อ นายผอม
5. นางปราง มีสามีชื่อ นายจันทร์ 6. นางบัว มีสามีชื่อ นายอินทร์แก้ว
7. นางมี มีสามีชื่อ นายคงและนายขำ 8. นางแนบ มีสามีชื่อนายจันทร์แก้ว
9. นายเอี่ยม มีภริยาชื่อ นางพั่ว 10. นางนุ่ม มีสามีชื่อ นายแป้น
ขณะเขียนชีวประวัตินี้ บรรดาพี่ชายพี่หญิงของพระอธิการยอด ได้ถึงแก่กรรมล่วงลับไปหมดแล้ว คงเหลืออยู่แต่พี่สะใภ้ 2 คนเท่านั้น คือนางพั่ว บ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ กับนางรอด บ้านศาลาหลวงล่าง ต.ท่าบอน พระอธิการยอด เป็นน้องสุดท้อง ได้มีชีวิตอยู่เห็นโลก และก็ล่วงลับลาโลกนี้ไป ล้าหลังจากพี่ๆ คนอื่นเช่นเดียวกัน ประวัติเริ่มแรกแห่งชีวิต เป็นลำดับมาจนถึงวาระสุดท้ายของท่านผู้เฒ่าองค์นี้
ยุคนั้น นายพรหมแก้ว มณีพรหม บิดาของพ่อท่านยอดเป็นคนสำคัญของชาวเกาะใหญ่ ได้รับแต่งตั้งจากทางราชการมีหน้าที่ปกครองดูแลชาวบ้าน ตลอดจนถึงมีหน้าที่เก็บส่วยสาอากรส่งหลวง มีอำนาจหน้าที่สำคัญ (ถ้าเปรียบปัจจุบันก็คือเป็นกำนันประจำตำบล) จึงเป็นที่เคารพรักของประชาชนทั่วไป โอกาสนี้ “ยอด” เด็กน้อยก็ ได้รับการถนอม อบรมกล่อมเกลาในวัยเด็กเป็นอย่างดี โตขึ้นพอจะศึกษาเล่าเรียนได้ นายพรหมแก้วและนางหอมได้นำไปฝากท่าน อาจารย์คง วัดทุ่งบัว (วัดทุ่งบัวเดิมเรียกว่า วัดม่วงทอด) อาจารย์คงได้อบรมสั่งสอนอักขระสมัยตามแบบโบราณที่นิยมในยุคนั้น เรืยนหนังสือไทยและอักขระขอม เด็กชายยอดเป็นเด็กที่ฉลาด เรียนรู้เร็วและเป็น ที่รักของท่านอาจารย์ยิ่งนัก
พ.ศ. 2438 นายยอดอายุได้ 16 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่กับอาจารย์คง ที่วัดทุ่งบัว แต่เพราะความคะนอง ในวัยหนุ่ม สามเณรยอดน้อยไม่อาจจะอยู่ในผ้ากาสาวพัตรให้ตลอดไปได้ บวชได้เพียง 3 พรรษา ก็ได้ละเพทสามเณรออกมาอยู่กับบิดา- มารดา
อีกครั้งหนึ่ง พ.ศ. 2444 นายยอด มณีพรหม อายุได้ 22 ปี บิดา-มารดาได้จูงมือเข้าสู่พัทธสีมา วัดทุ่งบัว ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มอบถวายตัวแก่ พระอาจารย์ทองมาก เจ้าอาวาสวัดเชิงแสใต้ ขอให้บรรพชาอุปสมบท ซึ่งพระอาจารย์ทองมากก็ยินดีรับเป็นพระอุปัชฌาย์ มี พระอาจารย์คง วัดทุ่งบัว เป็นพระกรรม วาจาจารย์ พระอาจารย์ศรีนวล วัดเชิงแส เป็นพระอนุสาวนาจารย์ บรรพชาอุปสมบทให้ บวชแล้วอยู่ในสำนักของอาจารย์คง วัดทุ่งบัวตามเดิม
พระภิกษุยอด ถืออุดมคติตามพุทธพจน์ว่า “เกิดเป็นชายต้องพยายามและพากเพียร จนบรรลุผลที่ต้องการ” เพราะซื่อตรงต่ออุดมคตินี้ จึงใน 2 พรรษาแรกนั่นเอง พระภิกษุยอดได้ท่องบ่นสวดมนต์ 7 ตำนาน 12 ตำนาน และพระปาฏิโมกข์ จบบริบูรณ์ สามารถสวดได้คล่องแคล่วชำนาญ จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ยิ่งนัก พรรษาที่ 3-4 เป็นลำดับ ได้ศึกษาหาความรู้ทางปริยัติจากการอบรมสั่งสอนของอาจารย์คงบ้าง จากการค้นคว้าจากคัมภีร์ต่างๆ บ้าง เพราะเวลานั้นโรงเรียนนักธรรมยังไม่มี แม้แต่โรงเรียนประชาบาล สำหรับเด็กก็ยังไม่ได้ยินชื่อกัน แต่ถึงกระนั้น ภิกษุหนุ่มองค์นี้ ก็เสมือนกับสิงห์หนุ่ม ที่กำลังกระหายเนื้อ สามารถหาความรู้ทางพระพุทธศาสนาใส่ตัว ได้อย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง และพิสดารยิ่ง
พ.ศ. 2449 พรรษาที่ 6 ภิกษุยอดเห็นว่าการค้นคว้าหาความรู้ในสำนักเดิมนี้ พอควรแก่การปกครองตนเองได้แล้ว แต่อยากหาความรู้ให้กว้างขวางยิ่งๆ “แม่น้ำไม่อิ่มด้วยน้ำฉันใด ปราชญ์ย่อมไม่อิ่มด้วยความรู้ฉันนั้น” จึงตัดสินใจลาอาจารย์คง ไปอยู่ วัดโคกกินร จ.สงขลา เพื่อศึกษาบาลี ที่เรียกว่าหนังสือใหญ่ในสมัยนั้น ศึกษาอยู่ 3 พรรษา มีความรู้พอแปลบาลีได้ แต่ให้เกิดโรคาพาธเบียดเบียน จึงต้องกลับมารักษาตัวอยู่วัดทุ่งบัว เมื่อหายปกติแล้ว ตั้งใจจะไปศึกษาต่ออีก แต่ก็มีอุปสรรคบางอย่างจึงไม่ได้กลับไปเล่าเรียนตามเดิม ในระหว่างนี้ได้ถือโอกาสบูรณะ วัดตก และ วัดสูง ซึ่งในขณะนั้น พูดได้ว่าวัดทั้ง 2 นี้ เกือบจะหมดชื่อเสียงไปแล้ว ให้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา
บ้านทุ่งบัวเดิมมี 3 วัด คือ วัดตก วัดสูง และวัดม่วงทอด
วัดตกตั้งอยู่ในที่ราบต่ำ (ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านทุ่งบัว) เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2323 ใน รัชกาลที่ 1 โดยมี นายชาย ปู่ของภิกษุยอดเอง อุทิศที่สวน 1 แปลง จัดตั้งเป็นวัดขึ้น ได้ผูกพัทธสีมา มีพระสงฆ์อยู่ประจำตลอดมา แต่เมื่อวัดทุ่งบัวหรือวัดม่วงทอด ซึ่งอยู่ทางใต้ของวัดตกได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น วัดตกก็กลับสภาพเป็นวัดรกร้างตกอับดังชื่อของวัดไป ส่วน วัดสูงนั้นเป็นวัดหนึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขา สูงชันจากพื้นบ้านประมาณ 90 เมตร ห่างจากวัดทุ่งบัวไปทางทิศเหนือ 14 เส้น เป็นวัดโบราณมีอายุหลายร้อยปี สมัยเดียวกับวัดพะโคะ จะทิ้งพระ เป็นวัดที่มีประวัติมหัศจรรย์พิสดาร เป็นที่สถิตของท่านผู้ทรงคุณธรรมพิเศษ ท่านผู้นั้นประชาชนได้ถวายสามัญนามว่า “สมเด็จเจ้า”
พระยอดได้เห็นความสำคัญ แห่งโบราณวัตถุโบราณสถาน เหล่านี้ว่า ควรบูรณะรักษาไว้เพื่อจะได้เป็นอนุสรณ์ เป็น ที่สักการะของมหาชนต่อไป จึงใน พ.ศ. 2452 ได้ลงมือบูรณะวัดทั้ง 2 นี้ ให้มีสภาพดีขึ้น
วัดตก ได้ให้ชาวบ้านช่วยแผ้วถาง ทำลานวัดลงหลักปักเขตต์ สร้างกุฏิขึ้นไว้ให้เพียงพอสำหรับพระสงฆ์ 5 รูป จะพำนักอยู่ได้ บูรณะโรงอุโบสถ ซึ่งถูกต้นไม้ปกคลุมให้ดีให้เหมาะสม ที่พุทธศาสนิกชนจะได้ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลต่อไป ครั้นแล้ว ได้หันไปบูรณะวัดสูงเป็นอันดับ 2
วัดสูงเหมาะสำหรับเป็นนิวาสสถาน ของบุคคลพิเศษดังกล่าวแล้ว แม้จะปลูกสร้างกุฏิขึ้น ก็ไม่มีภิกษุองค์ใดสมัครใจไต่เขาขึ้นไปอยู่ แต่ควรบูรณะไว้ จึงได้สร้างวิหารขึ้น 1 หลัง ก่อพระพุทธรูปหน้าตัก 3 ศอก ขึ้นไว้ในวิหารนี้ 3 องค์ ก่อพระเจดีย์ไว้หน้าวิหารนี้ 1 องค์ พระเจดีย์นี้ก่อครอบเจดีย์องค์เล็กของเก่า นัยว่า เจดีย์เก่านี้เป็นสธูปบรรจุอัฐิของ “สมเด็จเจ้า” เจ้าอาวาสวัดนี้ และได้จัดแผ้วถางบริเวณวัด ทำลานวัด ลงหลักปักเขตต์วัดไว้เป็นสำคัญ
พ.ศ. 2459 พรรษาที่ 15 ท่านอาจารย์คง มรณภาพลง พระยอดได้เป็นเจ้าอาวาส วัดทุ่งบัว แทน ระยะนี้ท่านได้บูรณะซ่อมแซม กุฏิ-วิหาร วัดทุ่งบัว หลายหลัง จนถึง
พ.ศ. 2463 พรรษาที่ 19 ชาวบ้านโรง อ.ระโนด ได้มานิมนต์ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโรง ท่านตริตรองเห็นว่าวัดทุ่งบัว มีสภาพมั่นคงดีแล้ว แต่วัดโรงแม้ตั้งมานานแล้ว แต่มีสภาพเหมือนวัดตั้งใหม่ ยังขาดถาวรวัตถุหลายอย่าง และ ที่นั่นยังมีญาติผู้เฒ่าอยู่หลายคน ควรตอบแทนบุญคุณด้วย ไปอยู่วัดโรงตามที่นิมนต์ จึงได้รับนิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโรง ส่วนวัดทุ่งบัวได้มอบหมายให้ พระเนียม พระจร พระปลอด และพระหนู เป็นเจ้าอาวาสปกครอง วัดทุ่งบัวจนบัดนี้
เมื่ออยู่วัดโรง ได้จัดสร้างสรรวัดโรงทางด้านวัตถุ และน้ำใจ ทางวัตถุได้สร้างกุฏิ วิหาร และโรงอุโบสถ หอฉัน และอื่นๆ จนเรียบร้อย ทางจิตใจ ได้พร่ำสอนแนะนำให้พี่น้องชาวโรง เกิดศรัทธาเคารพต่อโอวาทแห่งพระพุทธองค์ยิ่งขึ้น แนะนำให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวเป็นอย่างดี ยุคนั้นขึ้นชื่อว่าสามัคคีแล้ว ชาวตำบลโรงควรได้รับการชม เชยเป็นที่ 1 จะหาบ้านอื่นใดกลมเกลียวกันดีอย่างชาวโรงหาได้ยากเต็มที ทั้งนี้เพราะพระอธิการยอดองค์นี้เอง เป็นแม่เหล็ก ดึงดูดกระชับเกลียวสัมพันธ์กันไว้
วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2482 พรรษาที่ 37 นางสั้น ณ สงขลา บุตรีพระยาวิเชียรฯ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ภรรยาหมื่นรักษ์ฯ ได้ศรัทธาถวายสวนมะพร้าว จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 384,000 ตารางเมตร หรือ 240 ไร่ มีมะพร้าวได้ผลแล้วเต็มเนื้อที่ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านแหลมยาง หมู่ 2 กับบ้านไร่ หมู่ 3 ต.เกาะใหญ่ อ.ระโนด ให้เป็น ของสงฆ์ แต่ก่อนถวายได้แจ้งเจตน์จำนงค์ ขอนิมนต์พระอธิการยอด ไปเป็นผู้จัดการตั้งวัดและเป็นเจ้าอาวาส ในสวนนี้ ถ้าแม้นไม่รับนิมนต์ เจตนาที่จะถวายสวนมะพร้าวครั้งนี้ จะขอระงับไว้ก่อน ทั้งนี้เพราะนางสั้นได้ศรัทธาเลื่อมใส ต่อปฏิปทาของพระอธิการยอดองค์นี้ยิ่งนัก พระอธิการยอดจึงพิจรณาเห็นว่า บัดนี้วัดโรงก็เป็นวัดมีมาตรฐานมั่นคงดีแล้ว ส่วนบ้านแหลมยาง-บ้านไร่-บ้านแหลมหาดคูรานั้น เวลานี้มีประชาชนอยู่กันมากขึ้น การอาชีพก็มีท่าจะก้าวหน้า แต่ยังไม่มีวัดที่จะให้การอบรมส่งเสริมทางจิตใจและรำพึงต่อไปว่า ที่บ้านแหลมยางนี้ มีพี่ชายผู้มีอุปการะคุณมากอยู่ คือ นายเอี่ยม มณีพรหม ท่านเองยังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณอย่างใด ถ้ารับนิมนต์ นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนมากแล้ว จะได้หาโอกาสเทศนาตอบแทนบุญคุณพี่ชายผู้นี้ด้วย เป็นการสม ควรแล้ว จึงตกลงใจรับนิมนต์ จัดตั้งวัดขึ้นที่สวนมะพร้าว ของนางสั้น ณ สงขลา เรียกว่า “วัดอ่าวบัว” และยอมรับเป็นเจ้าอาวาสตามความประสงค์ของทายิกาผู้ศรัทธานี้ด้วย สวนมะพร้าวอันกว้างขวางของ นางสั้น ก็ได้จำแลงแปลงรูป เป็นวัดเข้าร่วมสารบรรณภาคี วัดแห่งประเทศไทยวัดหนึ่งตั้งแต่นั้นมา
ส่วนวัดโรงได้มอบหมายให้ พระอธิการขาว ซึ่งเป็นศิษย์ที่ไว้วางใจได้ และได้รับการศึกษาอบรมมาเป็นอย่างดีแล้ว ให้เป็นเจ้าอาวาสต่อมาจนถึงบัดนี้
ในปี พ.ศ. 2482 นั่นเอง วัดอ่าวบัวก็เริ่มขยายตัว มีกุฏิ วิหาร 1-2-3 และศาลาการเปรียญ และศาสนวัตถุอื่น ๆ อีกเกิดขึ้นเป็นลำดับ ในเวลาอันรวดเร็ว ต่อมา ได้จัดสร้างพระอุโบสถ และขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้ผูกพัทธสีมาใน วัดนี้ เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2492 วัดอ่าวบัวหรือสวนนางสั้น ก็เกิดมีประสิทธิภาพเป็นวัดโดยสมบูรณ์ เป็นที่รับรองพุทธวจนะ เป็นสถานบำเพ็ญบุญ เป็นขวัญใจของชาวเกาะใหญ่แห่งหนึ่ง
ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้เราท่านผู้เขียนผู้อ่านเรื่องนี้อยู่ และแม้พระอธิการยอด ซึ่งเป็นที่รักเคารพนับถือของประชาชนชั้น “พ่อ” หรือเพียงใดก็ตาม ก็ต้องตกอยู่ในอำนาจเด็ดขาดของมัจจุราชทั้งสิ้น เว้นแต่บอกกันไม่ได้ว่า ใครจะไปก่อน ไปหลัง เร็วหรือช้าเท่านั้น
ในระยะเวลาที่อยู่ที่วัดอ่าวบัวนี้ สังขารก็ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นลำดับ วาระสุดท้ายเกิดโรคลม เพราะความชราเป็นเหตุเข้าครอบงำ บรรดาศิษย์และลูกหลาน ได้เอาใจใส่พยาบาลกันเป็นอย่างดีที่สุด แต่ถึงกระนั้น
วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2497 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย เวลา 14.15 น. เป็นนาทีสุดท้าย นาทีแห่งความพ่ายแพ้ต่อพระยามัจจุราช ผู้มีอำนาจเหนือ
ดังประทีปดวงใหญ่ มีรัศมีสว่างไสวแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ ขณะนี้ดวงประทีปดวงนี้กำลังหรี่แสงลง-หรี่ลงทีละนิด รอนาทีสุดท้ายเพียงนิดเดียว
ท่ามกลางกระแสเสียงพระพุทธมนต์ ที่พระสงฆ์ 12 รูป สวดเจริญสติอยู่นั้น พ่อท่านยอดในเรือนร่างอันชรานอนอยู่บนเตียง เสียงที่พูดก็แหบแห้ง แต่ดวงตายังแจ่มใสขณะนั้น ท่านแสดงอาการจะลุกขึ้น จึงได้ช่วยประคองให้นั่งท่านขอดอกไม้ธูปเทียนมาถือ ปากก็ขมุบขมิบบูชาพระรัตนตรัย ยกมือประนมคารวะพระสงฆ์เป็นการอำลา ครั้งสุดท้าย แล้วนั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวตรง หลับตา สงบนิ่ง เหมือนยามปกติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ตามหลักวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งท่านอบรมมาจนเคยชิน ประมาณครึ่งชั่วธูป ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ซึ่งเคยทำงานมาเป็นเวลา 75 ปี ก็หยุดทำงานไม่เข้า-ออกตามปกติ เป็นที่เข้าใจกันว่า วิญญาณอันบริสุทธิ์โสภณ ดุจประดับไว้ด้วยดอกไม้อันงดงาม ตลอดเวลาอันยาวนานของ
พ่อท่านยอด สุวัณโณ บุตรชายสุดสวาทของปู่พรหมแก้ว และย่าหอม ตระกูลมณีพรหม เจ้าพ่อแห่งเกาะใหญ่ ขวัญใจของชาวโรง เลื่อนลอยออกจากร่าง เดินทางไปสู่สุคติสัมปรายภพหน้าแล้ว ดังดวงประทีปดวงใหญ่ ดับพรึ่บลงในท่ามกลางแห่งกระแสเสียง แห่งพระพุทธมนต์ และเสียงร้องไห้คร่ำครวญ อาลัยอาวรณ์ ของบรรดาศิษยานุศิษย์อย่างน่าสลดใจ แม้วิญญาณของพ่อท่านได้สลัดออกจากร่างไปถือปฏิสนธิใหม่แล้วก็ตาม แต่ความดีอันหาค่ามิได้ของท่าน ยังปรากฎเด่นอยู่ในโลกนี้ไม่มีวันที่จะลบเลือนไปได้ ดังสุนทรภาษิตว่า “อันดีชั่วตัวตายเมื่อภายหลัง ชื่อก็ยังคงอยู่ไม่ รู้หาย ถ้าทำดีดีประทับอยู่กับกาย ถึงตัวตายชื่อยังอยู่คู่ฟ้าดิน” ดังนี้
แต่ใครเล่า? ที่จะพรรณาความดีของท่านให้สิ้นสุดลงได้ ไม่มี ! ตลอดชีวิต ท่านทำแต่ความดี จะหยิบยกเอาปฏิปทาส่วนใดส่วนหนึ่ง อันควรเป็นไฝฝ้าด่างพร้อย แม้แต่น้อยมากล่าวกัน หาได้ยากเต็มที แต่หากจะกล่าวสรุปตามที่เห็น ได้ชัดๆ ได้แก่ การศึกษา การก่อสร้าง การเคร่งครัดต่อวินัย วัตรธรรมประจำตัว คือการให้ปัน, เจรจาอ่อนหวาน, ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น, และการไม่ถือตัว บรรดาความดีทั้งหลายนี้ ขอนำมากล่าวสักอย่างหนึ่ง คือ
“การให้ปัน”
ไม่เลือกหน้าว่าผู้มาหาท่านนั้น เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะยากจนหรือมั่งมี คำแรกท่านต้องสั่งให้หาอาหารมาให้รับประทานเสียก่อน อย่างไม่มีอะไรเสียเลยก็มะพร้าวอ่อน และขยั้นขยอให้รับประทานให้ได้ทุกคนไป แม้เวลาป่วยหนัก ก็ยังปฏิบัติอยู่อย่างนี้ นอกจากนี้ยังหาโอกาสเป็นครั้งคราว บริจาคทานเป็นการใหญ่ แต่การให้ปันดังกล่าวนี้ไม่น่าสนใจนัก เพราะป็นที่รู้กันทั่วๆ ไปแล้วว่า พ่อท่านเป็นเจ้าแห่งสันโดษ ไม่เคยสะสมทรัพย์ที่ได้จากการบริจาค ทำบุญของญาติโยมมาเป็นสมบัติส่วนตัวเลย ทั้งยังได้เฉลี่ยประโยชน์สุขส่วนตัวไปบำรุงองค์การของรัฐบาล และช่วยเหลือกิจการของเอกชนต่างๆ หลายแห่ง โดยมิได้หวังอามิสอันใดตอบแทน
และยิ่งกว่านั้นอีก ! ท่านยังได้เฉลี่ยประโยชน์ส่วนตัว ทูลเกล้าฯ ถวายถึงองค์พระมหากษัตริย์ ผู้เป็นองค์พระศาสนุปถัมภ์ และพระประมุขของชาติไทย โดยมิได้หวังพระราชทานตอบแทน และเกียรติศักดิ์อันใดแม้แต่น้อยเช่นเดียวกัน ผู้อ่านอาจเข้าใจว่าพ่อท่านเป็นคนร่ำรวย หรือมีโครงการอะไรใหญ่โตอยู่หลังฉากสักอย่างหนึ่งก็ได้ เปล่า หามิได้ ทรัพย์สินเหล่านี้ล้วนมีผู้อุทิศให้ และแล้วท่านก็แจกจ่ายไปในทันที วันมรณภาพนั้น มีเงินเหลืออยู่ 52.50 บาทเท่านั้น นี่แหละทรัพย์สินวัตถุสมบัติส่วนตัว อันเป็นก้อนใหญ่ที่สุดที่คงเหลืออยู่เพียงเท่านี้ ท่านผู้อ่านที่เคารพหากยังไม่คุ้นเคยกับพ่อท่านมาก่อน ก็หวังว่าคงวินิจฉัยอัธยาศรัยอันดีงามของพ่อท่านได้ดีแล้ว