หลวงปู่โต๊ะ พระราชสังวราภิมณฑ์ ( โต๊ะ อินทสุวณณเถร ) วัดประดู่ฉิมพลี หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า “หลวงปู่โต๊ะ” ท่านเป็นชาวสมุทรสงครามโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุนยังเป็นอัฐศกตรงกับวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๒๙ ณ.บ้านคลองบางน้อย ตำบลบางพรมหม อำเภอคณฑี เป็นบุตร นายพลอย กับ นางทับ รัตนคอน มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคนหนึ่งชื่อ เฉื่อย เมื่อเยาว์วัยอยู่กับบิดามารดาและได้เล่าเรียนวิชาหนังสือไทยที่วัดเกาะแก้ว ปากคลองบางน้อย ใกล้บ้านเกิด ครั้นมารดาถึงแก่กรรม พระภิกษุแก้ว ผู้เป็นญาติบวชอยู่กับพระอุดรคณารักษ์ วัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพ ฯ พาท่านมาฝากให้อยู่กับอธิการสุข วัดประดู่ฉิมพลี เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ส่วนนายเฉื่อยน้องชายนั้นมิได้ตามมาด้วย
หลวงปู่โต๊ะ บรรพชา อุปสมบท
ท่านมาเรียนหนังสือต่อที่วัดประดู่ฉิมพลีอีกประมาณ ๔ ปี พออายุได้ประมาณ ๑๗ ปี ก็บรรพชา เป็นสามเณรที่วัดนี้ โดยมีพระอธิการสุขเป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาได้วันเดียวพระอธิการสุข ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และผู้อุปการะของท่านก็ได้มรณะภาพ นายคล้าย นางพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้ของพระอธิการสุข และมีบ้านอยู่ใกล้วัดประดู่ฉิมพลีจึงได้อุปาการะท่านต่อมา
เมื่อบรรพชาแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักวัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งมีพระอธิการคำเป็นเจ้าอาวาสปกครองสืบมา พร้อมกับเรียนกรรมฐานกับพระอาจารย์พรมหมอีกทางหนึ่งด้วย จนกระทั่งอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดประดู่ฉิมพลี เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ อุตตราษาฒขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะแม นพศก ตรงกับ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๐ เวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา พระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ) เป็นอุปัชฌาย์ พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมวิรัต (เชย) วัดกำแพง เป็นอนุสาวนาจารย์ มีฉายาในพระพุทธศาสนาว่า “อินทสุวณโณ” ได้เล่าเรียนปฏิบัติทั้งทางคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ทั้งสองด้าน ด้วยความวิริยะอุตสาหะ จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ และปีนั้นเองเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีว่างลงอีก เพราะพระอธิการคำมาณภาพทางคณะสงฆ์ จึงแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ และสมณศักดิ์
พระอธิการโต๊ะได้บริหารงานของวัด ตลอดจนปกครองพระภิกษุสามเณรสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกด้วยความเที่ยงธรรมสม่ำเสมอ ประกอบด้วยเมตตากรุณาสงเคราะห์อนุเคราะห์ด้วยปัจจัยสี่ให้ได้รับความร่มเย็นทั่วหน้า ทั้งได้ประพฤติปฏิบัติสมณธรรม เป็นอจลพรมหมจรรย์ตลอดมา จึงได้รับตำแหน่งทางคณะสงฆ์และสมณศักดิ์สูงขึ้นสูงขึ้นเป็นลำดับ คือ
พ.ศ. ๒๔๕๕–๒๔๕๗ เป็นเจ้าคณะตำบลวัดท่าพระ
พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นพระครูสังฆวิชิต ฐานานุกรมของสมเด็จพระวันรัต (เฮงเขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ แต่ครั้งยังเป็นพระเทพโมลี
พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูวิริยกิตติ
พ.ศ. ๒๔๙๗ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทในราชทินนามเดิม (พัด จ.ป.ร.)
พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระอุปัชฌายะ
พ.ศ. ๒๕๐๖ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบบัญชีของวัดประจำตำบล วัดท่าพระ
พ.ศ. ๒๕๑๑ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ
พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระสังวรวิมลเณร
พ.ศ. ๒๕๒๑ เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชสังวราภิมณฑ์
วัดประดู่ฉิมพลี
พระราชสังวราภิมณฑ์ท่านอยู่กับวัดประดู่ฉิมพลีมาตั้งแต่เด็ก บรรพชาอุปสมบทที่วัดนี้ และได้เป็นอธิบดีสงฆ์วัดนี้มาช้านานถึง ๖๙ ปีจนมรณภาพ พูดได้ว่าท่านผูกพันกับวัดประดู่ฉิมพลีอย่างแน่นแฟ้นมาตลอดชีวิต ท่านจึงเป็นธุระดูแลบูรณะปฏิสังขรณ์และทำความเจริญต่าง ๆ ให้แก่วัดของท่านเอง ความเจริญทั้งหลายทุก ๆ ด้านที่บังเกิดแก่วัดประดู่ฉิมพลีในทุกวันนี้ ถ้าจะพูดว่าเป็นผลงานของท่าน ก็ไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้
อันวัดประดู่ฉิมพลีนี้เดิมเรียกว่าวัดสิมพลี เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเรียกว่า วัดประดู่นอกคู่กับวัดประดู่ในหรือวัดประดู่ในทรงธรรม จะเป็นวัดมีมาแต่เดิมหรือไม่ไม่ทราบได้ สมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาพิชยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า ได้สถาปนาขึ้นเมื่อปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาสำเร็จบริบูรณ์เอาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นเวลาถึง ๘ ปี
วัดประดู่ฉิมพลี อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ มีเนื้อที่เฉพาะเขตอาราม ไม่รวมที่ธรณีสงฆ์ถึง ๑๓ ไร่เศษ จัดว่าเป็นวัดใหญ่และงดงามมั่นคงมาก ผิดกว่าวัดที่เป็น “วัดราษฎร์” ทั่วไป ด้วยเหตุที่ท่านผู้สร้างท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีสูงในแผ่นดิน คือเป็น “ผู้สำเร็จราชการในพระนครทุกสิ่งทุกพนักงาน” ทั้งยังว่าการพระคลังสินค้าด้วย ภูมิสถานที่ตั้งวัด คิดดูในสมัยก่อนจะต้องสง่างามอย่างยิ่ง ด้วยเขตวัดด้านหน้าจดคลองบางกอกใหญ่ (บางหลวง) ซึ่งเป็นคลองใหญ่ตลอดแนว มีศาลาท่าน้ำ มีลานหน้าวัดกว้างขวาง เขตพุทธาวาสมีกำแพงก่ออิฐถือปูน มีบัวทั้งข้างล่างข้างบนตลอดแนว บนกำแพงทำเป็นเสาหัวเม็ดยอดปริกห้าชั้น ลานหน้าวัดภายในกำแพงปูด้วยแผ่นหินแกรนิตจากเมืองจีนทั้งหมด ตรงกำแพงด้านหน้าเป็นประตูเข้าสู่พุทธาวาส ซึ่งประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่เป็นหลักของวัด คือ
๑. อุโบสถขนาดใหญ่กว้าง ๖ วา ๒ ศอก ยาว ๑๖ วา ตั้งอยู่ลึกเข้าไปใกล้กับกำแพงด้านใน หรือด้านในขนานกับลำคลอง หน้าวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
๒. ถัดอุโบสถออกมาตรงกลางสร้างพระเจดีย์ทรงรามัญ องค์เจดีย์กลม แต่ฐานกบบัลลังก์เป็นแปดเหลี่ยม มีบัวประดับที่เชิงระฆัง ที่เหนือบัลลังก์ และที่ใต้ปลียอด กับ มีเครื่องประดับประดาที่ยอดดังเช่นเจดีย์รามัญทั้งหลายทั่วไป เจดีย์นี้สร้างไว้เหนือเรือนตึกแปดเหลี่ยม ซึ่งเสามีรายและและมีชานโดยรอบทำนองมณฑปแต่เรียกกันว่าวิหาร ภายในวิหารเดิมจะประดิษฐานสิ่งใดไม่ทราบแน่ ปัจจุบันนี้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งเป็นของทำในชั้นหลัง
๓. ข้างนอกออกมามีวิหารน้อยมีมุขหน้าหลัง ๒ หลัง อยู่ตะวันออกหลังหนึ่ง ข้างตะวันตกหลังหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศใต้ ลงคลองบางกอกใหญ่ หลังตะวันออกประดิษฐานพระยืน หลังตะวันตกประดิษฐานพระไสยาสน์.
๔. หน้าวิหารน้อยทั้งสองนั้นมีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุขขนาดย่อมอีกหลังละองค์
๕. นอกจากนี้ก็มีหอวัดระฆังและหอพระไตรปิฎก ซึ่งบัดนี้รื้อลงสร้างหอสมุดแทน สังฆาวาสอยู่ลึกลงไปทางข้างใต้ จะเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่ เพราะรื้อลงปรับปรุงใหม่เกือบหมดแล้ว เหลือแต่กุฏิใหญ่ที่เป็นกุฏิเจ้าอาวาสหลังเดี่ยว
นั่งสมาธิในอุโบสถ วัดประดู่ฉิมพลี
อาคารอันเป็นอุโบสถวิหารทั้งหมดสร้างตามแบบที่เรียกกันว่าเป็น “พระราชนิยม” ในรัชกาลที่ ๓ คือเป็นแบบที่มุ่งหมายให้ความมั่นคงถาวรยิ่งกว่าอื่น เพราะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นตังแต่ในรัชกาลที่หนึ่ง เมื่อแรกสถาปนาพระนครกรุงเทพ ฯ มีอายุล่วงเข้า ๕๐ ปีแล้วเป็นฟื้น เกิดชำรุดทรุดโทรมลงทั่วกัน ถึงคราวต้องบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงรับภาระเป็นอันมาก ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ดังกล่าวนั้น นับเฉพาะวัดก็ถึง ๑๗ วัด
ซึ่งแต่ละแห่งที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ เรียกได้ว่าเท่าๆกับสร้างใหม่ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดโมฬีโลกยาราม วัดอินทาราม เป็นต้น ทั้งยังทรงพระราชศรัธาสร้างขึ้นใหม่ ๓ วัด และพระราชทานทุนอุดหนุนผู้มีศรัทธาให้สร้างขึ้นด้วยอีกถึง ๓๓ วัด การซ่อมสร้างทั้งนั้นย่อมหมดเปลืองทุนทรัพย์จำนวนมาก ถึงเศรษฐกิจการเงินของบ้านเมือง จะกำลังมั่นคงรุ่งเรืองขึ้นมากในเวลานั้น ก็ยังต้องคำนึงถึงเรื่องการประหยัดและความคงทนทานถาวรด้วยเป็นหลัก ดังนั้นการสร้างทำอาคารสถานต่าง ๆ นอกจากจะสร้างทำตามแบบสถาปัตยกรรมไทยแท้อย่างเดิมแล้ว
จึงได้ทรงสร้างตามแบบที่ทรงพระราชดำริแก้ไขขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือความแข็งแรงมั่นคงเป็นหลักด้วย ตามแบบพระราชนิยมอย่างใหม่นี้ ส่วนของอาคารส่วนใดที่ทำด้วยไม้และพอจะเปลี่ยนเป็นอิฐเป็นปูนได้เป็นเปลี่ยน ส่วนประดับประดาที่เคยใช้ไม้มาวาดเจียนจำหลักจนบอบบาง เช่นช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ก็โปรดให้ลดเสีย หรือใช้อิฐปูนก่อตั้งแทน ลายจำหลักไม้ปิดทอประดับกระจกก็เปลี่ยนเป็นลายปั้นปูนประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ สี หน้าบันอย่างเก่าที่มีไขราคูหา เป็นที่น้ำฝนจะติดขัง นกหนูจะอาศัยทำรังให้รกรุงรังได้ ก็เปลี่ยนเป็นหน้าบันก่อปูนปิดตันหมดเป็นกะเท่เซ ไม่ให้น้ำฝนขังติดอยู่ได้เหมือนแบบเก่า ดูตัวอย่างได้ที่วัดที่ทรงสถาปนาและที่ผู้อื่นสถาปนามากมายหลายวัด เช่น วัดราชโอรส วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดเทพธิดา วัดนางรอง วัดอัปสรสวรรค์ วัดจันทาราม วัดสัมพันธวงศ์ (รื้อแล้ว) วัดกลางจังหวัดสมุทรปราการ วัดนางชี วัดเศวตฉัตร วัดมหรรณพาราม วัดกัลยานิมิตร ดังนี้ อุโบสถวัดประดู่ฉิมพลี
ซึ่งสร้างในครั้งนั้น จึงสร้างตามแบบพระราชนิยมดังกล่าว คือยกฐานสูงสองชั้น เป็นฐานรองตัวอุโบสถชั้นหนึ่ง เป็นชานโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มีบันไดขึ้นที่ฐานทั้ง ๔ ด้าน ภายในอุโบสถที่ยื่นมาปกคลุมมุขหน้าหลังและชานโดยรอบอุโบสถ หน้าบันเป็นแบบกะเท่เซ ปั้นลายปูนประดับกระเบื้องเคลือบต่างสี ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายปูนเป็นลายดอกไม้ใบไม้บานประตูหน้าต่างปิดทอง ประดับกระจกลายยาเป็นทำนองลายแก้วเชิงดวง ผนัง เพดาน ภายในเขียนลายฮ่อ (ซึ่งบัดนี้ลบเสียเกือบหมดแล้ว) แต่ฐานพระประธานนั้นทำเป็นฐานสิงห์ ปั้นปูนปิดทองประดับกระจกอย่างไทย ให้สมกับองค์พระที่เป็นแบบสุโขทัย
พระประธานวัดประดู่ฉิมพลีนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติท่านพยายามเสาะแสวงหาและเลือกสรรอย่างยิ่ง มีความกล่าวในประวัติวัดบวรนิเวศวิหารว่า เจ้าอธิการวัดอ้อยช้าง (เรียกวัดบางอ้อก็เรียก) จังหวัดนนทบุรี จำชื่อไม่ได้ ไปเชิญเอาพระศาสดามาแต่จังหวัดพิษณุโลก จะมาไว้ที่วัดอ้อยช้าง สมเด็จเจ้าพระยาท่านทราบเข้าจึงไปขอมาเป็นพระประธานวัดประดู่ฉิมพลีที่สร้างใหม่ ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเข้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าพระศาสดาเคยอยู่กับพระพุทธชินสีห์มาก่อน จึงมีพระบรมราชโองการให้ไปเชิญพระศาสดาจากวัดปีะดู่ฉิมพลีมาไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ขณะที่เชิญมานั้น ยังสร้างพระวิหารไม่เสร็จ โปรดให้นำไปไว้ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ชั่วคราวก่อน เมื่อเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีฉลูเบญจศก พ.ศ. ๒๓๙๖
เมื่อมีพระพระบรมราชโองการให้เชิญพระศาสดาไปแล้ว กล่าวกันว่าสมเด็จเจ้าพระยาท่านไปเลือกสรรพพระพุทธรูปจากวัดอ้อยช้างได้อีกองค์หนึ่ง ขนาดไล่เลี่ยกับพระพระพุทธรูปสุโขทัยทั่วไป จัดเป็นพระพุทธรูปที่งดงามวิเศษหายากยิ่งนัก ควรที่ผู้สนใจจะหาโอกาสชมและศึกษา วัดประดู่ฉิมพลีมีพระสังฆธิการปกครองเป็นเจ้าอาวาสตามลำดับมา แต่มิได้มีการบันทึกไว้ จึงไม่สามารถจะเรียงรายนามเจ้าอาวาสได้ครบ เพียงแต่จำกันได้ว่ามีพระอธิการแผว พระอธิการสุข และอธิการคำ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๕ จึงปรากฏนามพระอธิการโต๊ะเป็นเจ้าอาวาส ตามเอกสารประวัติพระสมณศักดิ์ และท่านได้ครองวัดยั่งยืนมาช้านานถึง ๖๙ ปี จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ขณะนี้พระครูวิโรจน์กิตติคุณ รักษาการเจ้าอาวาสสืบมา
ความเจริญของวัดประดู่ฉิมพลียุคพระราชสังวราภิมณฑ์
พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านมีความตั้งใจและอุตสาหะพยายามมากในการสร้างเสริมความเจริญทุก ๆ ด้านของวัดประดู่ฉิมพลี กรณียกกิจของท่านบำเพ็ญต่อเนื่องมาช้านาน เพื่อการนี้มากมายเกินกว่าที่จะจดจำนำมาแสดงให้ครบถ้วนได้ จึงขอสรุปลงเป็น ๓ หัวข้อ ดังนี้
๑. ด้านการศึกษา
ท่านเอาใจใส่ทำนุบำรุงมากทั้งการศึกษาของพระภิกษุสามเณรและของเยาวชน
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้จัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาขึ้น ชื่อว่า “โรงเรียนวิริยบำรุง” ซึ่งต่อมาได้
โอนเข้าเป็นของเทศบาลและได้เปลี่ยนชื่อว่า “โรงเรียนวัดประดู่ฉิมพลี”
พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้จัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลีขึ้น แต่นั้นก็ได้จัดส่งพระภิกษุสามเณรเข้าสอบสนามหลวง เป็นประจำทำให้มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาบวชเรียนในสำนักวัดประดู่ฉิมพลีมาก ที่ไปเรียนต่อสำนักอื่นแล้วออกไปเป็นหลักของพระศาสนาในที่อื่นก็มีมากมายหลายรุ่น ส่วนที่ท่านส่งเสริมให้ไปศึกษาต่างประเทศ
เช่นประเทศอินเดียเพื่อรับปริญญาก็มีอีก
พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้เป็นกรรมการจัดตั้งโรงเรียนวัดประดู่ในทรงธรรมในทรงธรรม ซึ่งเท่ากับเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาของท่าน
๒. ด้านการอบรมและเผยแพร่ธรรม
ท่านเอาใจใส่อบรมธรรมปฏิบัติแก่ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกามาก ทั้งที่เป็นศิษย์ภายในวัดและที่มาจากนอกวัด ลงเทศน์อบรมกรรมฐานและความคุมการปฏิบัติโดยสม่ำเสมอตลอดมาเป็นเวลาช้านาน ได้ปลูกฝังศัทธาปสาทะในพระรัตนตรัยให้แก่บุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะและอาชีพเป็นจำนวนนับพันนับหมื่น ยิ่งกว่านั้นยังได้เคยเดินทางออกไปเผยแพร่ธรรมถึงต่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ คือเมื่อ ๔๗ ปีมาแล้ว เรียกได้ว้าก่อนที่ใคร ๆ จะคิดทำกัน ครั้งนั้นท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดสว่างอารมณ์ ปีนัง และได้ไปเทศน์สั่งสอนธรรมหลาย ๆ แห่ง ทั้งในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์
๓. ด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์
งานด้านนี้ท่านคงจะได้ทำมามากกว่ามาก นับตั้งแต่ท่านยังเป็นพระอันดับ เท่าที่มีหลักฐานปรากฏชัด เพราะเป็นงานสำคัญและเป็นงานที่ท่านทำในชั้นหลัง ๆ นี้ก็มี
พ.ศ. ๒๔๗๕ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังหนึ่ง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น จุนักเรียนประมาณ ๓๐๐ คน ชื่อว่า “โรงเรียนสายหยุดเกียรติยาคาร” สิ้นค่าก่อสร้างในสมัยนั้นประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๔๗๙ สร้างศาลาเปรียญ ๑ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ชั้นบน
ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล ชั้นล่างเป็นโรงเรียนประถมศึกษา (ส่วนหนึ่งของโรงเรียนวัดประดู่ฉิมพลี) ชื่อว่า “หออิศราภัสสรสุวภาพ”สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๐๐ สร้างเขื่อนไม้หน้าวัดแทนเขื่อนเก่าที่ชำรุดหักพัง และซ่อมแซมหลังคา หน้าบันอุโบสถด้านทิศตะวันตก ซึ่งหักพังลงมา ให้คืนสภาพเดิม โดยเปลี่ยนเป็นเทคอนกรีตเสริมเหล็กตลอดส่วนที่ชำรุด พร้อมทั้งซ่อมแซมหลังคาและทาสีอุโบสถใหม่หมดทั้งหลัง ทั้งสองรายการนี้สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๐๑ รื้อ ย้ายกุฏิ ๕ หลัง ๑๘ ห้อง ไปรวมหมู่เข้าแถวเดียวกันสิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๒๘,๐๐ บาท กับสร้างสะพานไม้ถาวรข้ามคลองบางประกอกใหญ่ระหว่างฝั่งวัประดู่ฉิมพลีกับฝั่งประตูน้ำภาษีเจริญ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๐๗ สร้างกุฏิกรรมฐานขึ้น ๔ หลัง พร้อมทางเดินจงกรม สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๒๔,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๐๘ ซ่อมแซมกุฏิ ๓ หลัง รวม ๘ ห้อง สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๒๖,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๐๙ สร้างหอสมุดขึ้นแทนหอพระไตรปิฎกหลังเก่าที่ชำรุดหมดสภาพเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ชั้นบนเป็นหอสมุดสำหรับวัดฯ เพื่อเก็บรวบรวมโบราณวัตถุและใช้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าพระปริยัติธรรม ชั้นล่างเป็นห้องเรียนประถมศึกษาได้
๔ ห้องเรียน การก่อสร้างไม่เสร็จสิ้นในปีนั้น สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๖๕,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๐ สร้างกุฏิกรรมฐานขึ้นอีกหนึ่งหลัง สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๘,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๑ บูรณะกุฏิ ซึ่งเดิมเป็นหอสวดมนต์ขึ้นใหม่ พร้อมทั้งทาสีลงพื้นใหม่ และดำเนินการก่อสร้างหอสมุดต่อจนสำเร็จ สิ้นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๒ สร้างกุฏิกรรมฐานขึ้นอีก ๕ หลัง สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๓ สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กริมคลองหน้าวัด แทนเขื่อนไม้ที่ชำรุดเสียหาย สิ้นค่าก่อสร้างประมาณทั้งสิ้น ๑๓๙,๓๐๐ บาท กับได้เสริมผนังกุฏิใหม่ชั้นล่างและกุฏิเล็ก อีก ๒ หลัง กั้นเป็นห้องได้ ๒๔ ห้อง สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๔ สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเข้าวัด กว้าง ๓ เมตร ยาว ๕๐ เมตร สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสินประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๕ สร้างถนนคอนกรีตเหล็กหน้าวัด กว้าง ๓ เมตร ยาว ๕๐ เมตร สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๖ สร้างกุฏิใหม่แบบครึ่งตึกครึ่งไม้ สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๑๘ปรับพื้นลานหน้าวัดบริเวณสังฆาวาสทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สิ้นค้าใช้จ่ายประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๙ ซ่อมวิหาร ๒ หลัง และปรับพื้นอุโบสถโดยรอบ สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณทั้งสิ้น ๔๕,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๒๐ สร้างกำแพงแบ่งเขตบริเวณสังฆาวาสกับพุทธวาสเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน รอบบริเวณสังฆาวาส สิ้นค่าก่อประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๒๑ ซ่อมแซมโรงเรียนสายหยุดเกียรติยาคาร สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณทั้งสิ้น ๓๘๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๒๒ ซ่อมแซมกุฏิอาคารไม้ สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ ๑๖๕,๐๐๐ บาท
ครั้งหลังที่สุดที่ท่านดำริว่าอุโบสถ เจดีย์ วิหาร เสนาสนะที่เป็นของเก่าที่ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ถึงคราวจะต้องซ่อมสร้างให้มั่นคงบริบูรณ์ขึ้นดังเดิม ท่านจึงเริ่มวางโครงการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยจัดสร้างพระพุทธรูปบูชาขึ้นจำนวนหนึ่ง นับเป็นการสร้างพระพุทธรูปบูชาครั้งแรกของท่าน โดยจำลองจากพระประธานในอุโบสถ สำหรับให้ศิษยานุศิษย์ตลอดจนสาธุชนทั่วไปได้นำไปสักการบูชา แล้วนำปัจจัยที่ได้รับบริจาคมาใช้ดำเนินงานปฏิสังขรณ์ งานสำเร็จลุล่วงไปได้ส่วนใหญ่ คือสามารถซ่อมพระเจดีย์วิหารทุกแห่งได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ยังเหลือแต่อุโบสถที่ยังมิได้ลงมือซ่อมแซม ก็พอดีท่านมรณภาพลงเสียก่อน เป็นอันว่าผู้ที่อยู่ภายหลังจะต้องรับภาระนี้สืบไป
อัธยาศัยและกิจวัตร
พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านมีอัธยาศัยงดงาม สุภาพอ่อนโยน มากด้วยเมตตากรุณา ยินดีสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ผู้อื่นสัตว์อื่นโดยเสมอแหน้า ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นผู้ซื่อตรง ถ่อมตน ยึดมั่นในระเบียบประเพณีและความกตัญญูกตเวที ทั้งมีความภักดีในองค์พระมาหากษัตริย์และพระราชวงศ์อย่างแน่นแฟ้น ผู้ที่มีโอกาสเข้าใกล้ชิดคุ้นเคยกับท่าน จะยืนยันในความที่กล่าวนี้ได้ทุกคน อีกประการหนึ่ง ท่านเป็นคนหมั่นขยันและแน่วแน่ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วเป็นต้องทำจนสำเร็จ กิจที่ท่านปฏิบัติเป็นนิจในแต่ละวันจนตลอดชีพของท่าน คือ
๔.๐๐ น. ตื่นขึ้นเจริญสมณธรรม
๘.๐๐ น. นำภิกษุสามเณรทำวัตรสวดมนต์
๑๖.๐๐ น. ออกรับแขกที่มาถวายสักการะบ้าง ที่มาขอบารมีธรรมบ้าง ที่มาสนทนาธรรมบ้าง
๑๘.๐๐ น. นั่งบำเพ็ญสมณธรรมไปจนถึง ๒๐.๐๐ น. แล้วนำภิกษุสามเณรทำวัตรค่ำ
ในระยะหลังท่านนั่งบำเพ็ญสมณธรรมนานเข้าจนถึงเวลา ๒๑.๐๐ หรือ ๒๒.๐๐ น. โดยไม่ย่อท้อต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเนื่องแต่ความเสื่อมของสังขาร ในวันธรรมสวนะท่านจะแสดงธรรมแก่ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาเป็นประจำ และทุกวันพฤหัสบดีจะมีภิกษุ สามเณร จากวัดต่าง รวมทั้งผู้สนใจในการปฏิบัติธรรม มาขอฝึกปฏิบัติกรรมฐานเป็นจำนวนมาก นับว่าท่านได้เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวอย่างยิ่งของคนทั่วไป และบุคคลใดที่ได้บารมีธรรมของท่านแล้ว มักประกอบธุรกิจการงานได้รับผลสำเร็จสมควรปรารถนา
การปฏิบัติธรรม
พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านสนใจศึกษาด้านวิปัสสนาธุระมาตั้งแต่ยังเป็นสามเณรเท่าที่ทราบท่านศึกษากับพระอาจารย์พรมหม วัดประดู่ฉิมพลีก่อน พระอาจารย์พรมหมมรณภาพแล้วจึงได้ไปศึกษากับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จังหวัดสมุทรสาคร แล้วออกธุดงค์ไปทางภาคเหนือหลายครั้ง ต่อมาจึงได้มารู้จักคุ้นเคยกับหลวงพ่อสด คือพระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ ซึ่งมีอายุแก่กว่าท่าน ๔ ปี หลวงพ่อสดได้ชักชวนท่านให้ไปเรียนกับพระอาจารย์โหน่งที่วัดจังหวัดสุพรรณบุรีอีกระยะหนึ่ง หลังจากนั้น ท่านก็กลับมาปฏิบัติภาวนาโดยตัวของท่านเองที่วัดต่อมา แม้ว่าท่านจะมีภาระกิจในด้านบริหารหมู่คณะ และการสงเคาระห์อนุเคราะห์ผู้อื่นส่วนมากก็ตาม ท่านก็หาได้ละเลยพิกเฉยส่วนวิปัสสนาธุระไม่ คงขะมักขะเม้นฝึกฝนอบรมตามโอกาสอันสมควรตลอดมา จึงปรากฏว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจพระศาสนาส่วนนี้อยู่รูปหนึ่ง และโดยอัธยาศัยที่เคยอบรมด้านวิปัสสนาธุระมามาก จึงได้รับอาธารนาให้เข้าร่วมพิธีประสิทธิ์มงคลต่าง ๆ แทบทุกงาน ทั้งในกรุงและหัวเมือง ตลอดจนถึงต่างประเทศ
ถ้ำสิงโตทอง
พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านมีสถานที่บำเพ็ญธรรมของท่านอีก ๒ แห่ง คือที่สำนักสงฆ์ถ้ำสิงโตทองแห่งหนึ่ง และที่วัดพระธาตุสบฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านไปสร้างกุฏิไว้อีกแห่งหนึ่ง ที่วัดพระธาตุสบฝางท่านไม่ค่อยได้ไปจึงจะไม่กล่าวถึง จะกล่าวถึงถ้ำสิงโตทองแต่เพียงแห่งเดียว
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านได้เดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี ได้ไปพบกับพระมานิตย์เข้าพระมานิตย์พูดกับท่านถึงถ้ำสิงโตทอง ที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และชวนท่านให้ไปชม หลังจากนั้นท่านก็มีโอกาสได้ไป และไปเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นที่สงบสมควรแก่นักปฏิบัติธรรม ทั้งอยู่ไม่ห่างไกลกรุงเทพ ฯ มากนัก ท่านจึงไปอยู่ปฏิบัติธรรมที่ถ้ำสิงโตทองเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ แล้วเริ่มปรับปรุงให้มีความสะดวก เหมาะสมที่จะตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม คือได้สร้างกุฏิสำหรับท่านพักหลังหนึ่ง กุฏิเล็กอีกหลายหลัง ตามไหล่เขาข้างถ้ำสิงโตทอง พร้อมทั้งโรงครัวและที่พัก
สำหรับลูกศิษย์ที่ประสงค์จะติดตามไปค้างแรมหาความสงบสุข อยู่กับท่าน ท่านได้สร้างพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปแบบและปางต่าง ๆ เช่น แบบพระพุทธชินราช พระปางลีลา ปางมารวิชัย กับรูปเจ้าแม่กวนอิม เชิญไปไว้ที่ถ้ำในบริเวณใกล้ ๆ กันนั้นขึ้นอีกหลายแห่ง ได้เชิญพระพุทธรูปที่ผู้มีศรัทธาสร้างถวาย ไปประดิษฐานไว้ให้สักการะกัน ครั้งหลังที่สุดท่านได้สร้างรูปพระมหากัจจายนะนำไปประดิษฐานไว้ที่หน้าถ้ำกลาง ต่อมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ พระมานิตย์ซึ่งรับหน้าที่ดูแลถ้ำสิงโตทองมรณภาพลง ท่านได้ส่งพระรูปอื่นไปดูแลแทน ได้มีผู้ศรัทธาถวายที่ดินเพิ่มให้อีก ท่านจึงวางโครงการก่อสร้างให้เพิ่มเติมอีก จะสร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ โรงเรียนเด็กสำหรับลูกชาวไร่ สระน้ำ พร้อมกับซื้อที่บริเวณหน้าถ้ำเติมอีก ๙๐ ไร่เศษ รวมกับเนื้อที่เดิมเป็น ๑๔๐ ไร่ ทำถนนเชื่อมกับถนนส่วนใหญ่ ให้เป็นทางเข้าออกที่สะดวก องค์ท่านควบคุมดูแลการดำเนินงานนี้อย่างใกล้ชิด
หลวงปู่โต๊ะพบเจ้าแม่กวนอิม
ครั้งหนึ่งขณะที่หลวงปู่นั่งเจริญกรรมฐานอยู่ในโบสถ์ พลันก็เห็นเซียน 8 องค์เข้ามาพูดกับท่านว่า
“พระแม่กวนอิมมารับท่านเป็นสาวกและให้ท่านปฏิบัติแบบมหายาน คือไม่ฉันเนื้อวัว เนื้อควาย และให้ฉันเจทุกเทศกาลกินเจ”
หลวงปู่ก็ไม่ยอม เถียงไปว่า……… “พระแม่เป็นคนจีน หลวงปู่เป็นคนไทยและนับถือพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว ไม่ตกลงด้วย”
นับแต่นั้นมาเซียน 8 องค์ก็มาเฝ้าอ้อนวอนให้หลวงปู่เปลี่ยนใจ จนกระทั่งวันหนึ่งเซียนทั้ง 8 องค์ก็มาหาอีกและบอกว่า “วันนี้พระแม่กวนอิมเสด็จมาด้วยพระองค์เอง พักรออยู่ข้างนอก”
หลวงปู่โต๊ะ ไม่สนใจได้แต่หลับตาเสีย เซียนองค์หนึ่งจึงไปเชิญเสด็จพระแม่กวนอิมเข้ามาในโบสถ์ และบอกให้ หลวงปู่โต๊ะ ลืมตาขึ้น หลวงปู่โต๊ะลืมตาเห็นพระรัศมีสว่างไสวและพระลักษณ์สวยงามมาก พระแม่เจ้าให้หลวงปู่โต๊ะเข้าเป็นสาวกทางพุทธศาสนามหายาน และประทานเสื้อกางเกงชุดพระจีนให้ใส่แทน หลวงปู่เผลอรับเสื้อกางเกงมาสวมใส่ พอกางเกงสวมมาถึงเข่า ก็รู้สึกตัวได้สติ รีบดึงกางเกงออกทิ้งไป พระแม่กลับบอกว่า “ท่านเป็นสาวกของพระแม่แล้ว ต่อไปนี้ท่านจะต้องฉันเจทุกปี ตามเทศกาลเจของชาวจีน” แล้วพระแม่กวนอิมและเซียนทั้ง 8 องค์ ก็หายวับไปกับตา
พอถึงเทศกาลเจครั้งแรก หลวงปู่ไม่ยอมฉันเจ หลวงปู่ก็อาพาธหนัก พอหมดเทศกาลเจก็หาย ในปีต่อ ๆ มา ก็เป็นเช่นนี้อีก หลวงปู่ทดสอบอยู่หลายปี จนต้องหันมาฉันเจในเทศกาลเจ อาการอาพาธต่าง ๆ ก็หายสิ้น ท่านจึงฉันเจตามเทศกาลแต่นั้นมา
ทุกปีของเทศกาลเจ หลวงปู่จะแต่งชุดพระจีนในเวลากลางคืน และเมื่อหลวงปู่นั่งสมาธิ พระแม่เจ้าก็ได้พาหลวงปู่ไปเที่ยวดินแดนสุขาวดีพุทธเกษตร พร้อมทั้งสอนวิชชาให้ จึงเป็นสาเหตุว่าชาวจีนทำไมจึงขึ้นกับหลวงปู่โต๊ะมากเป็นพิเศษ และหนึ่งในชาวจีนที่นับถือหลวงปู่โต๊ะมากคือ คุณพ่อของข้าพเจ้าเอง คุณพ่อและคณะศรัทธาธรรมได้ร่วมกันสร้างรูปหล่อพระแม่เจ้าร่วมกับหลวงปู่โต๊ะที่ หน้าถ้ำสิงโตทอง จังหวัดราชบุรี เป็นพระรูปกะไหล่ทองให้ศิษย์ที่นับถือพระแม่กวนอิมสักการะบูชา
ครั้นหลังเมื่อหลวงปู่กลับจากการเยือนพุทธคยาที่ประเทศอินเดีย หลวงปู่ก็เริ่มฉันภัตตาหารมังสวิรัติ คือ การเว้นเนื้อสัตว์และมันสัตว์ทั้งปวงโดยเด็ดขาดอย่างจริงจัง ตราบถึงกาลมรณภาพ
เบื้องปลายชีวิต
พระราชสังวราภิมณฑ์ อยู่ในสมณเพศมาตั้งแต่อายุได้ ๑๗ ปี ท่านได้เล่าเรียนพระธรรมวินัยมีความรู้จนแตกฉานลึกซึ้ง และถือวิปัสสนาธุระเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตอันยาวนานถึง ๙๔ ปีของท่าน เป็นรัตตัญญูผู้รู้กาลนาน เป็นครูของสาธุชนทุกหมู่เหล่า เป็นที่เคารพบูชา ศรัทธาเลื่อมใสของบุคคลทุกเพศทุกวัย ทุกชาติชั้น นับแต่สามัญบุคคลจนถึงองค์พระประมุขของชาติ แม้อายุพรรษาจะมากเพียงใด ท่านก็มิได้ขัดศรัทธาของผู้ที่อาราธนาไปการบุญกุศลต่าง ๆ มีการนั่งเจริญสมาธิภาวนาอำนวยสิริมงคล เป็นต้น จึงในระยะหลัง ๆ นี้ทำให้สังขารร่างกายท่านต้องลำบากตราตรำมากเกินไป และเกิดอาพาธขึ้นบ่อย ๆ
แม้จะได้รับการเยี่ยวยารักษาและดูแลพยาบาลอย่างดีเพียงใด กายสังขารของท่านก็ทนอยู่ไม่ไหว ท่านอาพาธครั้งสุดท้ายในเดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ หลังจากกลับจากถ้ำสิงโตทอง มีอาการอ่อนเพลียบ้างเป็นลำดับ ก่อนมรณภาพ ๗ วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลยแต่ยังพอฉันได้บ้าง นายแพทย์ต้องให้น้ำเกลือทุกวัน อาหารนั้นถวายข้าวต้มกับรังนกอีก ราว ๗.๐๐ นาฬิกา ถึงวันที่ ๕ มีนาคม เวลาเช้าศิษย์ผู้พยาบาลก็ถวายข้าวต้มกับรังนกอีก คราวนี้สังเกตเห็นว่าแขนข้างขวาท่านบวม จึงกราบเรียนกับท่านว่า “แขนหลวงปู่บวมมาก” ท่านก็พยักหน้ารับคำแล้วฉันและหลับตาพักต่อไป โดยให้ออกซิเจนช่วยการหายใจตลอด เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา ท่านอ่อนแรงลงอีกและพอถึงเวลา ๙.๕๕ นาฬิกา ท่านก็สิ้นลมด้วยอาการสงบดุจนอนหลับไป ณ กุฏิสายหยุด นับอายุได้ ๙๓ ปี ๑๐ เดือน กับ ๒๒ วัน
ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ ภูพิงคราชนิเวศน์ ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลาร้อยปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษเสมอ พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมทั้งฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ แก่การศพโดยตลอด เสด็จฯ ไปทรงเป็นประทานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และในการบำเพ็ญพระราชกุศล ออกเมรุและพระราชทานเพลิงเผาศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินนทราวาสก็จักได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานอีกคำรบหนึ่ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระราชสังวราภิมณฑ์ตลอดจนศิษย์ทุกคนหาที่สุดมิได้