ประวัติหลวงพ่อทบ วัดชนแดน

เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาพระทั้งหลาย หลวงพ่อทบได้มรณภาพไปแล้ว แต่ร่างกายของท่านไม่เน่าเปื่อย บรรดาลูกสิทธิ์ได้นำร่างท่านบรรจุไว้ในโลงแก้ว และปัจจุบันทางจังหวัดยังได้จัดทำ พิธีก่อสร้างอนุสรณ์หลวงพ่อทบ หล่อรูปเหมือนไว้เคารพสักการะ เมื่อได้มาเที่ยวเพชรบูรณ์ แวะไปสักการะได้ที่วัดช้างเผือก ต.วังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ก่อนถึงสามแยกวังชมภูประมาณ 2 กม.

พระภิกษุนักปฏิบัติ ชอบสันโดษ มักน้อย ไม่นิยมสะสมเงินทอง หากมีผู้ถวายจะสมทบสร้างวัดวาอารามจนหมดสิ้น หลวงพ่อทบ หรือพระครูวิชิตพัชราจารย์ เป็นอีกท่านหนึ่งที่ถือปฏิบัติต่อเนื่องอย่างเคร่งครัดจนกระทั่งมรณะภาพ คงเหลือไว้แต่หลักธรรมคำสอนและศาสนะสถานที่หลวงพ่อได้สร้างไว้ครั้งยังมีชีวิตอยู่ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สืบทอดเจตนารมณ์ตามหลักพระพุทธศาสนา

หลวงพ่อทบ นอกจากจะเป็นพระนักปฏิบัติวิปัสนาชั้นยอดแล้ว ท่านยังมีคุณวิเศษหลายอย่าง เก่งด้านไสยเวทย์ จนได้รับการขานสมญาว่า เทพเจ้าแห่งความขลัง และที่สำคัญหลวงพ่อทบเป็นพระที่มีแต่ความเมตตากรุณา ไม่เลือกชั้นวรรณะ ด้วยเหตุนี้ทำให้หลวงพ่อทบมีลูกศิษย์มากมายทั้งในจังหวัดเพชรบูรณ์และทั่วประเทศ

ประวัติหลวงพ่อทบ

เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2424 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ณ บ้านยางหัวลม ต.นายม (ปัจจุบันแยกเป็นตำบลวังชมภู) อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายเผือก นางอินทร์ ม่วงดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน คือ นายหว่าง ม่วงดี นางใบ ม่วงดี หลวงพ่อทบ นางแดง ม่วงดี

ทำไมชื่อ”ทบ” ครั้งที่หลวงพ่อทบถือกำเนิดจากครรภ์มารดา ในวันคลอดปรากฎว่ามีเรื่องมหัศจรรย์เกิดขึ้น หลวงพ่อทบถือกำเนิดผิดแผกแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไปที่การเวลาคลอดศรีษะจะโผล่ออกมาก่อน แต่หลวงพ่อทบตอนคลอดศรีษะกับเท้าออกมาพร้อมกัน ดังนั้นบิดามารดา จึงตั้งชื่อให้ว่า “ทบ”

หลวงพ่อทบ เกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนา ฐานะค่อนข้างร่ำรวย มีที่ดินและกระบือมากกว่าคนละแวกนั้น ชีวิตจึงมีความสุขสบาย ตอนเด็กหลวงพ่อทบได้เรียนที่โรงเรียนวัดแถวบ้าน หลวงพ่อทบสนใจการเรียนมาก สามารถอ่านเขียนได้ทั้งภาษาไทยและขอม ท่านชอบการอ่านเป็นอย่างมากและมีความจำเป็นเลิศ เมื่ออายุ 16 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดช้างเผือก มีพระอาจารย์สี เจ้าอาวาสซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อทรัพย์ตาพรรณวาจาศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้ทรงวิทยาคุณทางเวทย์มนต์คาถาอย่างมากเป็นผู้บรรพชาให้ ช่วงบรรพชาได้ศึกษาคาถาอาคมจนแก่กล้าและได้ศึกษาเพิ่มเติมจากพระอาจารย์ปาน เจ้าอาวาสวัดศิลาโมง จนหลวงพ่อทบได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จนหมดสิ้น

เมื่อย่างอายุ 21 ปี ได้ทำการอุปสมบท ณ วัดเกาะแก้ว ต.นายม โดยมีพระครูเมือง เป็นอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า ธัมมะปัญโญภิกขุ ได้จำอยู่ที่วัดช้างเผือก เป็นเวลา 2 ปี พอเข้าฤดูพรรษาต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดวังโป่ง อ.ชนแดน อีก 2 ปีจึงเริ่มเดินธุดงค์ ไปตามป่าเขาลำเนาไพรแต่เพียงรูปเดียว ช่วงธุดงค์ท่านได้บำเพ็ญศีลภาวนา แสวงหาความรู้ ศึกษาเวทย์มนต์คาถาตามถ้ำ หน้าผาผนังหินที่มีผู้จารึกไว้ในสมัยก่อน บางครั้งต้องดำรงชีพด้วยผลไม้ป่าและใบไม้ เคยผจญกับโขลงช้างป่า เสือ สัตว์ร้ายต่างๆ ท่านได้แผ่เมตตาภาวนา โดยที่สัตว์เหล่านั้นมิได้ทำอันตรายใดๆ เลย

จนกระทั่งได้พบกับพระธุดงค์อีกรูปหนึ่งจึงชวนกันเดินธุดงค์ไปจนถึงชายแดนพม่า และได้แสดงอภินิหารซึ่งกันและกันและแลกเปลี่ยนวิชาอาคมกัน จึงแยกย้ายคนละทิศคนละทาง หลวงพ่อทบเดินทางต่อไปจนถึงนครเวียงจันทร์ ได้รู้จักกับพระที่นั่นหลายรูป ได้ช่วยพัฒนาวัดวาอารามจนเป็นที่ชื่นชอบของพระเวียงจันทร์ ถึงกับนิมนต์ให้ประจำอยู่ที่วัด แต่หลวงพ่อปฏิเสธเพราะมีภาระอีกต่อไปคือคำสั่งของพระอาจารย์ว่าวาระสุดท้ายให้กลับไปจำที่วัดช้างเผือก จากนั้นก็ธุดงค์ไปจนถึงชายทะเลที่จังหวัดตราดติดแดนเขมร ได้ศึกษาวิชากับพระเขมร จนเป็นที่รู้จักของชาวเขมรในด้านเวทย์มนต์คาถาอาคม

หลังจากจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ หลวงพ่อทบได้กลับมาที่วัดศิลาโมง ต.นายม ท่านได้บูรณะครั้งใหญ่สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ ตอนนั้นท่านยังไม่ได้ 40 พรรษา ชื่อเสียงยังไม่มีใครรู้จักมากนัก ต่อมาเมื่อ 40 พรรษา ได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกครั้งยิ่งใหญ่ของ วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นชื่อเสียงของท่านเริ่มมีผู้รู้จักและโด่งดังมากขึ้น เพราะในพิธีมีช่างภาพหนังสือพิมพ์หลายฉบับถ่ายรูปของท่านหลายครั้งแต่ไม่ติด หลังจากพิธีผ่านไป 5 ปี ก็มีโอกาสเข้าร่วมพิธีมหาพุทธาภิเษกที่วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ และเช่นเดียวกันช่างภาพก็ถ่ายภาพไม่ติด ทำให้ชื่อเสียงหลวงพ่อเป็นที่เลื่องลือมากขึ้น

จากตำบลนายม หลวงพ่อทบได้ไปจำพรรษาที่อำเภอชนแดน ได้สร้างวัดแห่งใหม่ขึ้น ชื่อวัดสว่างอรุณ และสร้างวัดอีกแห่งใกล้กันคือวัดพระพุทธบาทเขาน้อย พอได้อายุ 73 พรรษา ก็ได้รับเลื่อนสมณะศักดิ์เป็นเจ้าคณะอำเภอชนแดน พร้อมได้รับสถาปนาสมณะศักดิ์ทางกรมศาสนาให้ชื่อว่า “พระครูวิชิตพัชราจารย์” ช่วงนี้หลวงพ่อทบได้บูรณะวัดในเขตชนแดนอย่างจริงจัง มีการก่อสร้างปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานอีกหลายแห่ง พออายุย่างเข้า 83 พรรษา นัยน์ตาหลวงพ่อเริ่มฟ่าฟางจนกระทั่งมืดสนิท ท่านจึงได้ลาออกจากตำแหน่งพระครูวิชิตพัชราจารย์ เจ้าคณะอำเภอชนแดน แต่เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ มีมติให้ท่านดำรงตำแหน่งพระครูวิชิตพัชราจารย์กิตติมศักดิ์ต่อไปจนตลอดอายุ

เมื่อลาออกจากสมณะศักดิ์แล้ว ท่านก็คิดถึงวัดที่เคยอาศัยอยู่กับพระอาจารย์ คือ วัดช้างเผือก ต.วังชมภู ขณะนั้นเป็นวัดร้างประมาณ 30 – 40 ปี ท่านจึงได้ออกจากวัดพระพุทธบาทเขาน้อย มาอยู่ที่วัดศิลาโมง เพราะสะดวกที่จะย้ายไปจำพรรษาที่วัดช้างเผือก ท่านได้บูรณะวัดศิลาโมงอยู่ระยะหนึ่งจึงย้ายไปจำพรรษาที่วัดช้างเผือกซึ่งร้างรอท่านอยู่ ท่านได้บูรณะพัฒนาจนวัดช้างเผือกเป็นวัดที่รุ่งเรืองที่สุดของตำบลวังชมภู จนกระทั่งวันที่ 13 มีนาคม 2519 กรรมการวัดได้จัดงานประจำปี และพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถหลังใหม่ ประชาชนได้หลั่งไหลร่วมงานอย่างมืดฟ้ามัวดิน คืนนั้นเกิดพายุฝนกระหน่ำอย่างหนักกว่า 5 ชั่วโมง ทุกอย่างกลับสู่ปกติ แต่บนกุฏิหลวงพ่อแวดล้อมด้วยศานุศิษย์ ญาติ โยม ใจคอไม่ดีเพราะหลวงพ่อเริ่มมีอาการผิดปกติ พยายามลุกนั่งและฉันหมากอยู่เสมอ และได้พูดเรื่องศพของท่านว่า หากตัวท่านมรณะภาพลงอย่าได้เผาเป็นอันขาดให้สร้างเป็นวิหารหรือมณฑปเก็บศพไว้ มิฉะนั้นความเจริญหรือปฏิสังขรใด ๆ ที่วัดกำลังดำเนินการอยู่จะชงักวัดจะร้างอย่างเดิม และแล้วเวลาเที่ยงวันเศษของวันรุ่งขึ้น หลวงพ่อก็มีอาการเหมือนเป็นไข้ คณะศิษย์จึงนำรถมารับเพื่อไปรักษาที่กรุงเทพฯทันที แต่ขณะรถวิ่งถึงเขตตำบลนาเฉลียง มันเป็นเวลา 4 โมงเย็นพอดีหลวงพ่อก็ปิดเปลือกตาลงอย่างสนิท หลวงพ่อทบมรณะภาพแล้ว

หลวงพ่อทบ ได้ทำการก่อสร้างบูรณะวัดวาอาราม ไปตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะได้เป็นผู้นำทำการก่อสร้างพระอุโบสถสำเร็จเรียบร้อยถึง 16 หลังทั้งได้วางศิลาฤกษ์หลังที่ 17 ไว้ที่วัดช้างเผือกซึ่งปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว หลวงพ่อทบเป็นพระที่ไม่เลือกชั้นวรรณะตลอดชีวิต ใครมีทุกข์ท่านจะช่วยเหลือเป็นอย่างดี เป็นผู้มีกตัญญูรู้คุณครูบาอาจารย์ ท่านเคยพูดเมื่อปี 2518 ว่า ที่ต้องกลับมาอยู่วัดช้างเผือกเพราะอาจารย์ท่านสั่งไว้ ท่านยังบอกว่าตัวของท่านขณะนี้ตายแล้วเพียงแต่ไม่เน่าเท่านั้นเอง

เมื่อเอ่ยถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทบแล้ว มีผู้ประสพด้วยตนเองมาไม่น้อย เช่นครั้งเกิดเหตุคนร้ายบุกจี้หลวงพ่อบนกุฏิวัดพระพุทธบาทเขาน้อย คนร้ายขู่บังคับให้หลวงพ่อบอกที่ซ่อนเงินและของมีค่า เมื่อหลวงพ่อพูดว่า จะเอาเงินที่ไหนมา คนร้ายก็เหนี่ยวไกปืนยิงหลวงพ่อทันที แต่ยิงไม่ออก ยิงอยู่ 2-3 ครั้งก็ยิงไม่ออก จนตำรวจเข้าไปคนร้ายจึงยึดเอากุฏิเป็นป้อมยิงปืนสู้ตำรวจแต่ยิงไม่ออก ฝ่ายตำรวจก็ยิงบ้างแต่ก็ยิงไม่ออกเช่นกัน ขณะนั้นหลวงพ่อนั่งสมาธิเฉยอยู่ จนกระทั่งคนร้ายกระโดดลงจากกุฏิ ก็มีเสียงปืนดังขึ้น พร้อมกับเสียงร้องโอ๊ย คนร้ายถูกยิงและเสียชีวิตในที่สุด และยังมีเรื่องเล่าถึงปาฏิหาริย์เกี่ยวกับหลวงพ่อทบอีกมากมาย

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.47 ที่วัดช้างเผือก ตำบลวังชมภู อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ นายดิเรก ถึงฝั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย ข้าราชการ พ่อค้าประชาชน ร่วมกันจัดพิธีอัญเชิญรูปหล่อเหมือนหลวงพ่อทบ พระครูวิชิตพัชราจารย์ ประดิษฐานบนแท่นอนุสรณ์สถานพร้อมจัดพิธีถวายเครื่องบวงสรวง โดยมีประชาชนเข้าร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น

ได้จัดพิธีมหาพุทธาภิเษกวัตถุมงคลหลวงพ่อทบภายในอุโบสถ โดยมีพระราชพัชราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ประกอบพิธีจุดเทียนชัย มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจำนวน 9 รูป อธิตฐานจิตพุทธาภิเษก ได้แก่ หลวงพ่อพูล หลวงพ่อเพิ่ม หลวงปู่ทิม หลวงพ่อรวย หลวงพ่อรอด หลวงพ่อประสิทธิ์ หลวงปู่อ่ำ หลวงพ่อบุญช่วย หลวงพ่อจอย และ พระสงฆ์ 108 รูปร่วมสวดรอบอุโบสถ

สำหรับวัตถุมงคลหลวงพ่อทบจะนำออกให้ผู้มีจิตศรัทธาเช่าบูชา เพื่อสมทบทุนปรับปรุงวิหาร โลงแก้ว และปรับภูมิทัศน์บริเวณวัด ให้สวยงาม เป็นสถานที่พักผ่อนด้านจิตใจ