ประวัติหลวงพ่อสีแก้ว วัดไทรใหญ่
เดิมทีตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดไทรใหญ่ปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านไทรใหญ่ยังเรียกกันติดปากจนกระทั่งบัดนี้ว่า “วัดเก่า” ห่างจากวัดประมาณ ๕ เส้นเศษ มีเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๒ งาน ลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม บริเวณรอบวัดเป็นหมู่บ้านราษฎรและทุ่งนา ถึงฤดูฝนน้ำท่วม คณะกรรมการของวัดในสมัยนั้น ซึ่งมีขุนถาวร สุวรรณรัตน์ กำนันตำบลควนรู พร้อมด้วยพุทธบริษัทของวัดได้ปรึกษากันว่า ต่อไปภายหน้าจำนวนพระภิกษุสามเณรเพิ่มมากขึ้น ประชาชนที่มาบำเพ็ญบุญกันในวัดก็มีเพิ่มขึ้น อาณาบริเวณวัดคับแคบมาก มีเนื้อที่ไม่เพียงพอที่จะขยายเพื่อปลูกสร้างเสนาสนสถานเพิ่มเติมให้เพียงพอที่จะจะขยายเพื่อปลูกสร้างวัดใหม่ขึ้นในท้องที่ตำบลควนรู เมื่อประชุมปรึกษามีมติเป็นเอกฉันท์แล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ขุนถาวร สุวรรณรัตน์ จึงได้ขอที่ดินของนายพรหม คงสม เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ และที่ดินของนายเพชร บัวเพชร ประมาณ ๔ ไร่ และของบุคคลอื่นในบริเวณใกล้เคียง ได้เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒๕ ไร่เศษ ทั้งนี้ไม่รวมกับที่ป่าช้าซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดเรียกว่า “เกาะตะเคียน” เมื่อได้ที่ดินมาเรียบร้อยแล้ว คณะพุทธบริษัทได้ลงมือแผ้วถางป่า ปราบพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ย้ายวัดเก่ามายังวัดใหม่ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เช่น กุฏิ หอฉัน ศาลาการเปรียญ (เว้นแต่พระอุโบสถ) ส่วนการทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ ยังคงใช้อุโบสถของวัดเก่า เพราะวัดใหม่ยังไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตพระราชทานวิสุงคามสีมา+ เพื่อบันทึกคุณงามความดีของท่านที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างวัดไทรใหญ่ ผู้เขียนจึงได้นำรายชื่อของท่านเหล่านั้นมาบันทึกไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ และให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบ คือ
๑. ท่านอาจารย์ศรีขวัญ เจ้าอาวาสวัดชลธาวาส ตำบลบางกล่ำ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านชะแล้ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
๒. ท่านอาจารย์สีแก้ว กุลคุโณ
๓. ขุนถาวร สุวรรณรัตน์ (คง สุวรรณรัตน์) กำนันตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านท่าแซ ตำบลท่าแซ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
๔. นายมี คงมัยลิก
๕. นายคลิ้ง จันทรโชติ ครูใหญ่โรงเรียนวัดไทรใหญ่
๖. นายยิ้ม คงสม
๗. นายเขียว อ่อนรักษ์
๘. นายลอย อ่อนรักษ์
๙. นางศรีนวล สุวรรณรัตน์
๑๐. นายลิ่ม อ่อนรักษ์
๑๑. นางสุ้น ศรีวะปะ
๑๒. นางหนู ปานแก้ว
๑๓. นางศรีขวัญ คงสม
๑๔. นางจิบ บัวเพชร
๑๕. นายเขียน ก่อกิ้มเส้ง
๑๖. นายขับ แก้วอัมพร
๑๗. นางจันทร์เนี่ยว คล้ายทอง
๑๘. นางชื่น สุวรรณรัตน์
๑๙. นางเส้ง บัวสม
๒๐. นางไชย แก้วสองสี
๒๑. นางจันทร์ทอง บัวสม
๒๒. คณะราษฎร ซึ่งเป็นพุทธบริษัทในท้องที่หมู่ที่ ๔, ๕, และ ๖ ตำบลควนรู และตำบลใกล้เคียง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
หลังจากได้สร้างวัดไทรใหญ่ใหม่เรียบร้อยแล้ว ท่านอาจารย์ศรีแก้ว กุลคุโณ ก็ได้เป็นประธานปกครองคณะสงฆ์ของวัดไทรใหญ่ตลอดมา จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอธิการดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทรใหญ่ ผลงานของท่านอาจารย์ศรีแก้ว กุลคุโณ ในด้านการสร้างเสนาสนสถานอันเป็นศาสนสมบัติให้กับวัดไทรใหญ่ คือ
๑. พ.ศ. ๒๔๖๗ สร้างศาลาการเปรียญ ขนาดกว้าง ๑๔.๐๐ เมตร ยาว ๒๓.๕๐ เมตร
๒. พ.ศ. ๒๔๖๗ สร้างบ่อน้ำ ขนาดกว้าง ๖.๐๐ เมตร ลึก ๒๐.๐๐ เมตร + ๓. พ.ศ. ๒๔๗๐ สร้างกุฏิ ขนาดกว้าง ๖.๐๐ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร
๔. พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
๕. พ.ศ. ๒๔๗๒ ผูกพัทธสีมา
๖. พ.ศ. ๒๔๗๔ สร้างกุฏิ ขนาดกว้าง ๑๑.๐๐ เมตร ยาว ๒๐.๐๐ เมตร+ ๗. พ.ศ. ๒๔๗๗ สร้างกุฏิ ขนาดกว้าง ๕.๐๐ เมตร ยาว ๖.๐๐ เมตร
๘. พ.ศ. ๒๔๘๐ สร้างพระอุโบสถ ขนาดกว้าง ๑๗.๕๐ เมตร ยาว ๓๐.๐๐ เมตร
๙. พ.ศ. ๒๔๙๑ สร้างกุฏิ ขนาดกว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๙.๐๐ เมตร
๑๐. พ.ศ. ๒๔๙๕ สร้างกุฏิ ขนาดกว้าง ๖.๐๐ เมตร ยาว ๙.๐๐ เมตร
๑๑. พ.ศ. ๒๔๙๙ สร้างกุฏิ ขนาดกว้าง ๙.๐๐ เมตร ยาว ๑๓.๕๐ เมตร
๑๒. พ.ศ.๒๕๑๐ สร้างอนุสาวรีย์ช้างพลายประทุม ขนาดกว้าง ๕.๕๐ เมตร สูง ๖.๕๐ เมตร
๑๓. พ.ศ. ๒๕๑๑ สร้างพระประทานประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕.๐๐ เมตร สูง ๗.๐๐ เมตร
๑๔. พ.ศ. ๒๕๑๓ สร้างรูปพระอัครสาวกประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ ขนาดสูง ๒.๖๐ เมตร
บรรดาสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ของวัดไทรใหญ่ ดังที่กล่าวมานี้ ท่านอาจารย์ศรีแก้ว กุลคุโณ เป็นผู้นำที่สำคัญและมีบทบาทในการจัดหาเงินและอุปกรณ์ในการก่อสร้างจนสำเร็จ ทั้งนี้โดยความร่วมมือและแรงศรัทธาของพี่น้องชาวบ้าน ไทรใหญ่ วัดไทรใหญ่นับว่าเป็นวัดใหญ่วัดหนึ่งในอำเภอรัตภูมิ ที่มีเสนาสนสถานพอเพียงสำหรับภิกษุสามเณรที่บรรพชาอุปสมบทในเทศกาลเข้าพรรษาในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นต้นมา ท่านอาจารย์ศรีแก้ว กุลคุโณ ได้เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะเรื่อยมาด้วยโรคชรา แม้จะได้รับการรักษาพยาบาลจากหมอเป็นอย่างดี แต่อาการของโรคก็ไม่ดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากในอดีต ท่านอาจารย์ได้ตรากตรำเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานและบำเพ็ญศาสนกิจมาก จนกระทั่งถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๖ เวลา ๐๔ นาฬิกา ท่านอาจารย์ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ท่ามกลางความเศร้าสลดของพระภิกษุสามเณร ญาติพี่น้อง พุทธบริษัทของวัดไทรใหญ่ ที่เฝ้าดูอาการของท่านอย่างใกล้ชิด นับว่าวัดไทรใหญ่ได้สูญเสียพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของพวกเราไป ทุกคนต่างมีน้ำตานองหน้า แสดงถึงความเศร้าโศก มีแต่เสียงรำพึงรำพันว่า “ตั้งแต่นี้ไป เราจะไม่มีพ่อท่าน ตาหลวง ลุงหลวง ของเราอีกต่อไปแล้ว” ศพของท่านอาจารย์ได้ประดิษฐานไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์ และประชาชนที่เคารพนับถือท่านเป็นเวลาถึง ๖ ปีเศษ และได้ทำการฌาปนกิจเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
หลังจากท่านอาจารย์ศรีแก้ว กุลคุโณ ถึงแก่มรณภาพแล้ว ท่านภา สจฺจธมฺโม ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทรใหญ่ต่อมา ท่านเจ้าอาวาสวัดไทรใหญ่องค์ใหม่ ได้ปกครองลูกวัดและสร้างถาวรวัตถุโดยดำเนินรอยตามท่านอาจารย์ศรีแก้ว ในระยะเวลา ๕ ปีเศษ ที่ท่านภา สจฺจธมฺโม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างสิ่งสำคัญให้กับวัดไทรใหญ่ คือ
๑. สร้างหอฉันและโรงครัว ๑ หลัง ราคาประมาณ ๕๒๕,๐๐๐ บาท
๒. สร้างศาลาการเปรียญ ๑ หลัง ราคาประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท
๓. สร้างพระประธานและพระอัครสาวก ราคา ๔๕,๐๐๐ บาท
สิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึงและกำหนดไม่ได้คือความตาย หลังจากท่านได้เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ เพื่อซื้อพระประธานสำหรับประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญแล้ว เมื่อประมาณปลายเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒ ท่านได้ถึงแก่มรณภาพโดยกระทันหัน ท่ามกลางความเศร้าของญาติพี่น้องและศิษยานุศิษย์ โดยที่ท่านไม่มีโอกาสที่จะได้อยู่ฌาปนกิจศพของท่านอาจารย์ศรีแก้ว ศพของท่านภา สจฺจธมฺโม ได้ประดิษฐานเคียงคู่อยู่กับศพของท่านอาจารย์ศรีแก้ว หลังจากท่านภา สจฺจธมฺโม ถึงแก่มรณภาพแล้ว ทางคณะสงฆ์โดยความเห็นชอบของพุทธบริษัทของวัดไทรใหญ่ ได้แต่งตั้งให้ท่านเฉี้ยง มเหสกฺโข ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่และเป็นชาวไทรใหญ่โดยกำเนิด ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน สำหรับเจ้าอาวาสองค์ใหม่ ยังคงสร้างศรัทธาความเชื่อให้กับชาวไทรใหญ่ทุกคน และปกครองภิกษุสงฆ์เยี่ยงพ่อปกครองลูก โดยดำเนินรอยตามท่านอาจารย์ศรีแก้ว กุลคุโณ และท่านภา สจฺจธมฺโม ดังกล่าวแล้ว
ประวัติวัดไทรใหญ่นี้ข้าพเจ้าเขียนขึ้นโดยถือหลักฐานบันทึกของอาจารย์คุณครูคลิ้ง จันทรโชติ อดีตครูใหญ่โรงเรียนวัดไทรใหญ่ ซึ่งท่านได้มอบต้นฉบับให้ หากข้อความหรือตัวเลขต่าง ๆ ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง ข้าพเจ้าผู้เขียนกราบขอประทานอภัยและขอรับผิดแต่ผู้เดียว