ประวัติ พระครูญาณสาคร วัดปากอ่าวบางตะบูน
หลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน หรือ พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สีลปญฺโญ) อดีตเจ้าคณะหมวดบางตะบูน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ท่านชื่อเดิมว่า แฉ่ง สำเภาเงิน พื้นเพท่รนเป็นชาวตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปี เถาะ โยมบิดาชื่อนายเฉย สำเภาเงิน โยมมารดาชื่อนางทับ สำเภาเงิน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๙ คน ดังนี้
๑. นายอั๋น สำเภาเงิน
๒. นางสาย เข่งทอง
๓. นายสิน สำเภาเงิน
๔. นายแสง สำเภาเงิน
๕. นายแบน สำเภาเงิน
๖. นายเบี้ยว สำเภาเงิน
๗. พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สำเภาเงิน)
๘. นางเป้า ฟังทอง
๙. นายใจ สำเภาเงิน
ในสมัยเด็กโยมบิดาและโยมมารดาได้นำท่านไปฝากไว้กับเจ้าอธิการวัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อศึกษาหนังสือไทย (สมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียนจำต้องเรียนที่วัด)
ต่อมาท่านได้ย้ายไปเรียนที่วัดทุ่ง (ทุ่งเฟื้อ) ตั้งอยู่คลองปลายสวนทุ่ง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
จนมีความรู้ในการอ่านเขียนภาษาไทยและภาษาขอมได้เป็นอย่างดี ท่านจึงได้กลับมาเพื่อมาช่วยโยมบิดาและโยมมารดา ทำงานช่วยเหลือครอบครัว
ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ หลวงพ่อแฉ่ง ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (สมัยนั้นขึ้นอยู่กับอำเภอเขาย้อย) เมื่อวันอังคารที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒ เวลา ๑๔.๑๕ น. ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ได้รับฉายาว่า “สีลปญฺโญ” แปลว่าผู้ทรงศีลเป็นปัญญา โดยมี
พระอธิการคล้ำ วัดปากคลองบางครก เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการทรัพย์ วัดเขาตะเครา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการวัตร วัดปากลัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดปากลัด เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอธิการวัตร เป็นระยะเวลา ๑ พรรษา
ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ หลังจากที่ท่านศึกษาวิชาจนหมดสิ้นแล้ว ท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาตะเครา เพื่อศึกษาวิชากับพระอธิการทรัพย์ เป็นระยะเวลา ๒ พรรษาจนสำเร็จวิชา
ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ท่านจึงย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดปากคลองบางครก เพื่อศึกษาวิปัสสนามัฎฐานกับพระอธิการคล้ำ เป็นระยะเวลา ๕ พรรษา
ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ทางวัดอุตมิงด์ขาดพระอาจารย์ที่สามารถสอนภาษาขอมได้ พระอธิการเปลี่ยน วัดอุตมิงด์ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้อาราธนาให้หลวงพ่อแฉ่งไปสอนอักษรขอม และจำพรรษาอยู่ที่วัดอุตมิงด์
ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ หลังจากออกพรรษา หลวงพ่อแฉ่ง ท่านมีความคิดที่จะขอลาสิกขาจากสมณเพศ เพื่อกลับไปดูแลโยมบิดาและโยมมารดา
ท่านจึงได้เดินทางไปหาพระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อฉุย) ณ วัดพระทรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำการลาสิกขา หลวงพ่อฉุย ท่านจึงได้ทำการสำรวจตรวจดวงชะตาของหลวงพ่อแฉ่งเพื่อดูความเหมาะสม
หลังจากพระอาจารย์ตรวจดวงชะตาแล้ว เห็นว่าบุญบารมียังสูงส่งจักเป็นหลักชัยในพระพุทธศาสนาสืบไป ไม่ควรสึกออกมาให้อยู่ในทางธรรมต่อไป หลวงพ่อแฉ่ง ท่านจึงกลับใจคงอยู่ในสมณเพศต่อ และเดินทางกลับมาบ้านเกิดที่ตำบลบางตะบูน
ระหว่างที่หลวงพ่อแฉ่ง อยู่ที่ตำบลบางตะบูนนั้น บริเวณนี้ยังไม่มีวัดสำหรับประกอบพิธีสงฆ์ ท่านจึงได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชน วงศาคณาญาติทั้งหลาย ผู้มีจิตศรัทธาในบวรบพุทธศาสนา ชาวบ้านบางตะบูนทั้งผู้มีทุนทรัพย์ และผู้มีกำลังกายเข้าร่วมกัน ก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ราวปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ที่ริมฝั่งชายทะเลด้านตะวันออกของปากอ่าวบางตะบูน
ซึ่งเดิมพื้นที่เป็นป่าชายเลนมีน้ำท่วมถึงชายป่า ท่านใช้เวลาในการปรับปรุ่งพื้นที่ ถมดิน ถมทราย และก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ อาทิ พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และโรงเรียนวัดปากอ่าว เป็นต้น
ท่านใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลาเกือบ ๕ ปี จึงแล้วเสร็จ กลายเป็นวัดใหญ่ถาวรมาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้ขนานนามว่า “วัดปากอ่าวบางตะบูน” ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐
วัดปากอ่าวบางตะบูน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั่นๆว่า วัดปากอ่าว เป็นวัดราษฏร์แห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา
วัดอยู่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางตะบูน ปลายสุดของแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้อุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเลและพันธุ์ไม้ชายเลนมากมาย จึงทำให้วัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงอนุรักษ์ป่าชายเลน
วัดปากอ่าวบางตะบูน เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดนอก” เนื่องจากบริเวณที่สร้างวัดดังกล่าวอยู่ปากอ่าวทะเลและอยู่ห่างจากวัดปากลัด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ปากอ่าวมากกว่า และชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงเรียกว่าวัดปากลัดว่า “วัดใน”
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ทางวัดได้ขอจัดตั้งเป็นวัดโดยผ่านกระทรวงศึกษาธิการ และประกาศตั้งวิสุงคามสีมาขึ้นและให้ใช้ชื่อว่า “วัดปากอ่าวบางตะบูน” เป็นต้นมา
เมื่อวัดสร้างเสร็จชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อแฉ่ง ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของทางวัด หลังจากเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านก็มิได้นิ่งนอนใจ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆเพิ่มเติม และสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ระหว่างที่สร้างวัดนั้น หลวงพ่อแฉ่ง ท่านเป็นผู้ริเริ่มเปิดสอนนักเรียนในอาคารเรียนหลังเก่า ณ ปัจจุบัน ที่เป็นอาคารไม้ อยู่บริเวณใกล้กับท่าน้ำของวัดปากอ่าวบางตะบูน โดยการจ้างครูมาสอนบุตรหลานชาวบางตะบูน ด้วยทุนส่วนตัวของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ สร้างพระอุโบสถและทำการผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๒
ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ สร้างศาลาการเปรียญ และสร้างพระเจดีย์ ๑ องค์
ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ สร้างโรงทีม(ศาลาสวดศพ) และหอระฆัง
ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านได้ทำเรื่องกับทางราชการ เพื่อทำการยกฐานะเป็นโรงเรียนประชาบาลประเภทประชาชนจัดตั้งขึ้น และเปิดสอนตั้งแต่งชั้น ป.๑ ถึงชั้น ป. ๓ ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดปากอ่าว (ญาณสาครวิทยาคาร)
ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านได้สร้างหอสวดมนต์
ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงพ่อแฉ่ง ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระครูแฉ่ง และเป็นเจ้าคณะสงฆ์แขวงอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อที่ได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูญาณสาคร เมื่อวันพุธที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น สาธารณูปกร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ทางราชการมีการแบ่งเขตปกครองใหม่ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะสงฆ์ตำบลบางตะบูน
ในส่วนของเรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อแฉ่งนั้น ที่กล่าวขานกันมีเรื่องเล่าขานคือ วิชากระสุนคด ซึ่งเป็นวิชายิงลูกกระสุนดินให้โดนผู้ที่ต้องการยิง โดยไม่ต้องเล็งเป้าหมาย และถูกต้องได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าจะต้องผ่านสิ่งกีดขวางอย่างใดก็ตาม
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งมีชาวบ้านมาแอบตัดไม้โกงกางของทางวัด ชาวบ้านมาพบเห็นจึงได้ไปฟ้องหลวงพ่อ ท่านจึงนำหน้าไม้มาใส่ลูกกระสุนดินแล้วยิงออกไปทางหน้าต่าง กระสุนพุ่งเป้าไปโดนชาวบ้านที่แอบตัดไม้โกงกางนั้นโดยไม่ต้องเล็งเป้าหมายแต่อย่างใด
อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ในคืนวันเพ็ญหลวงพ่อแฉ่งจะนำไม้มาปักไว้ที่ท่าน้ำหน้าวัด พอได้เวลาที่พระจันทร์ทรงกลดเป็นรัศมี หลวงพ่อจะดำน้ำลงไปแล้วบริกรรมคาถาปลุกเสกจารอักขระตะกรุดใต้น้ำจนแล้วเสร็จ
หลวงพ่อแฉ่งจะปล่อยให้ตะกรุดลอยไปกับสายน้ำ ครั้นพอเสร็จพิธีกรรมหลวงพ่อก็กลับยังกุฏิ แล้วนำบาตรมานั่งหน้าพระบริกรรมคาถา ลูกศิษย์เล่าขานว่าในบาตรมีเสียงกรุ่งกริ่งดังขึ้นตลอด หลวงพ่อแฉ่งท่านเรียกตะกรุดที่ปล่อยลอยไปกลับสายน้ำให้กลับมาอยู่ในบาตร ตะกรุดนี้เรียกกันว่า ตะกรุดเดือนเพ็ญ
ยังมีตะกรุดอีกแบบหนึ่งคือ ตะกรุดสาลิกาบิน ตะกรุดนี้เวลาที่หลวงพ่อแฉ่งปลุกเสกจะนั่งปลุกเสกในอุโบสถ โดยนำตะกรุดสาลิกาบินใส่ในบาตรไว้ เมื่อปลุกเสกแล้วตะกรุดตัวไหนไม่บินออกจากบาตร ถือว่าตะกรุดตัวนั้นใช้ไม่ได้
วัตถุมงคลของหลวงพ่อแฉ่งที่เลื่องชื่ออีกชนิดหนึ่งคือ เชือกถักมงคลคาดเอว ซึ่งหลวงพ่อแฉ่งจะเสกแจกให้กับพระภิกษุที่ลาสิกขากับท่าน
โดยในวันที่ลาสิกขานั้นพระภิกษุรูปนั้นต้องนำเชือกไปให้คุณป้าท่านหนึ่งถักลายกระดูกงูตามขนาดของเอว แล้วนำมาให้หลวงพ่อปลุกเสกคาถา เชือกคาดเอวเมื่อเจองูมีพิษ งูพิษจะหมอบนิ่งไม่สามารถทำอะไรผู้คาดเชือกคาดเอวหลวงพ่อได้เลย
หลวงพ่อแฉ่ง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เวลา ๑๘.๐๗ น. ณ กุฏิเจ้าอาวาสวัดปากอ่าวบางตะบูน ด้วยอาการสงบ นับสิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี ๕ เดือน กับ ๒๕ วัน ๖๔ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน
เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เพื่อแจกให้กับผุู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกเป็นที่ระลึกในงานแซยิด เมื่อวันที่ ๓ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ อายุ ๗๒ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้