ประวัติ พระครูพิพัฒนิโรธกิจ วัดมงคลโคธาวาส
หลวงพ่อปาน เป็นชาวตำบลบางเหี้ย (ตำบลคลองด่านในปัจจุบัน) เกิดปี พ.ศ. 2368 เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายปลื้มกับนางตาล มีเชื้อสายจีนทั้งสองคน เมื่อโตขึ้นได้เรียนหนังสือที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แล้วบวชเป็นสามเณรโดยมีพระศรีสากยบุตร (เซ่ง) เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ภายหลังได้ลาสิกขาบทเพื่อกลับมาช่วยทำงานหาเลี้ยงครอบครัว จนอายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดอรุณราชวราราม โดยมีพระศรีสากยบุตร (เซ่ง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่ปรากฏฉายาแน่ชัด (บ้างว่าติสฺสโร บ้างว่าอคฺคปญฺโญ) ท่านอยู่ศึกษากรรมฐานพอสมควรแล้วจึงลากลับมาอยู่วัดมงคลโคธาวาส และได้เป็นเจ้าอาวาสต่อมา
ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ร.ศ. 120 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูพิพัฒนิโรธกิจ มีนิตยภัตราคาเดือนละ 6 บาท พัดยศเป็นตาลปัตรพุดตานพื้นกำมะหยี่ขาวหักทองขวาง ท่านมาไม่ทันงานพระราชพิธี จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการส่งสัญญาบัตร ไตร และพัดยศไปพระราชทาน[2]
พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “เรื่องเสด็จประพาสมณฑลปราจีน” เมื่อ ร.ศ. 127 เพื่อตรวจเยี่ยมการสร้างประตูชลประทานคลองบางเหี้ย ทรงเล่าว่าได้พบพระครูปาน เนื้อความในพระราชหัตถเลขาว่า[3] (อักขรวิธีตามพระราชหัตถเลขา)
พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้เปนที่นิยมกันในทางวิปัสนาและธุดงควัตร มีพระสงฆ์วัดต่าง ๆ ไปเดินธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมอยู่ที่วัดบางเหี้ย มีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยง กินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน ทางที่เดินนั้นลงไปบางปลาสร้อยแล้วจึงเวียนกลับขึ้นมาปราจีน นครนายก ไปพระบาท แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ว่ามาตามทางรถไฟ แต่ไม่ขึ้นรถไฟ เว้นแต่พระที่เลื่อยล้าเจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพฯ กลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับไปวัดอยู่ในเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา ๔๐ ปีแล้ว คุณวิเศษที่คนเลื่อมใส คือให้ลงตะกรุด ด้ายผูกมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากนั้นคือรูปเสือแกะด้วยเขี้ยวเสือเล็กบ้างใหญ่บ้างฝีมืออยาบ ๆ ข่าวที่ล่ำลือกันว่าเสือนั้นเวลาจะปลุกเศก ต้องใช้เนื้อหมูเศกเป่าไปยังไรเสือนั้นกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบากเหน็ดเหนื่อย ในการที่ใคร ๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ป่าช้า ที่พระบาทก็หนีขึ้นไปอยู่เสียบนเขาโพธิ์ลังกาคนก็ยังตามขึ้นไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ ในการที่ทำอะไร ๆ ขาย มีแกะรูปเสือเป็นต้น ถ้าปรกติราคาตัวละบาท เวลาแย่งชิงกันก็ขึ้นไปถึง ๓ บาท ว่า ๖ บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเศก สังเกตดูอัชฌาศัยเป็นอย่างคนแก่ใจดีกิริยาเรียบร้อย อายุ ๗๐ แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย มีคนอื่นมาช่วยพูด
— เรื่องเสด็จประพาสมณฑลปราจีน
พระครูพิพัฒนิโรธกิจ อาพาธเป็นฝีในคอ มรณภาพเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2453[4] เวลา 22:45 นาที ถึงวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพนักงานส่งหีบเพลิงไปพระราชทานเพลิงศพ และพระราชทานเงิน 1,000 สตางค์ ผ้าขาวพับ 2 พับ