ประวัติ หลวงปู่กรัก วัดอัมพวัน
หลวงพ่อกรัก พระเกจิอาจารย์ เชื้อสายรามัญ พระอุปัชฌาย์กรัก ที่เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวลพบุรี โดยเฉพาะชาวลพบุรีที่มีเชื้อสายรามัญนั้น จะหวงแหนเหรียญของท่านกันมาก พระเกจิอาจารย์ที่ว่าก็คือ พระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
วัดอัมพวัน เดิมชื่อวัดสุด เป็นวัดเก่าแก่ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ วัดนี้เป็นวัดที่มีพระเถระเชื้อสายรามัญปกครองวัดมาโดยตลอด ตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สืบค้นไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ได้แต่สันนิษฐานว่า เจ้านายท่านหนึ่งในกรมช้างคงจะมีส่วนในการสร้างวัดเพื่ออุทิศกุศลให้กับ บรรดาช้างที่ล้มตาย บริเวณที่แห่งนี้เต็มไปด้วยต้นมะม่วงจำนวนมากภายหลังจึงได้เปลี่ยนนามให้ เป็นสิริมงคลว่า “วัดอัมพวัน” ซึ่งหมายถึงป่ามะม่วง หรือสวนมะม่วง
พระอุปัชฌาย์กรัก หรือชื่อในภาษามอญว่า ทอกรัก (อ่านว่า ทอ-กรัก) สกุลเดิม ท่อทอง ท่านเกิดในวันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปี ฉลู พ.ศ. ๒๓๙๕ (ประวัติบางสำนวนระบุว่าท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘) ที่บ้านบางขันหมาก (ใต้) อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โยมบิดา มารดามีเชื้อสายรามัญ ไม่ทราบนามที่แน่นอน
ท่านได้เข้าสู่ร่มเงาแห่งบวรพระพุทธศาสนาแต่เยาว์วัย โดยท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนมีอายุครบอุปสมบท และต่อมา (ในปี ๒๔๑๖) ก็ได้อุปสมบทที่วัดอัมพวัน ได้รับนามฉายาว่า “สุวณฺณสาโร”
หลวงพ่อกรัก ท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติ ฉันอาหารมื้อเดียว ถือสันโดษ นิยมกิจแห่งธุดงควัตร ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนมีบารมีทางกระแสจิตแก่กล้า ได้รับความศรัทธาจากญาติโยมทั้งใกล้และไกล บรรดาชาวรามัญในย่านบางขันหมาก เคารพศรัทธาเลื่อมใสในกิตติคุณความดีของ “พระอุปัชฌาย์กรัก” ท่าน บรรดาหนุ่มๆ เชื้อสายรามัญในเมืองลพบุรีจะนิยมมานิมนต์พระอุปัชฌาย์กรักไปเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้ หลวงพ่อกรัก ท่านก็ไม่เคยขัดศรัทธาใคร ไม่ว่ามอญหรือไทยถ้ามานิมนต์ท่านจะไม่ผิดหวังท่านไปทั้งนั้น
ทางด้านการปกครอง ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวันตลอดมาจนถึงปีพ.ศ. ๒๔๔๕ อายุได้ ๕๐ ปี พระอาจารย์ทอโหมด เจ้าอาวาสวัดอัมพวันได้มรณภาพลง ท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะตำบลบางขันหมากใต้
พระอุปัชฌาย์กรัก นอกจากท่านจะเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ทางด้านวิทยาคมนั้นนับว่าพระอุปัชฌาย์กรัก ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของลพบุรีทีเดียว บางตำนานระบุว่าท่านได้ศึกษาพุทธาคมกับ หลวงปู่แสง วัดมณีชลขันธ์ แต่เรื่องนี้ยังมีข้อสงสัยอยู่ด้วยเหตุที่หลวงปู่แสง วัดมณีชลขันธ์ จ.ลพบุรีนั้นนับถือกันว่าเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ซึ่งเป็นคนละสมัยกันกับพระอุปัชฌาย์กรัก จึงยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ แต่มีเรื่องเล่ามากมายที่กล่าวขวัญถึงกิตติศัพท์ด้านวัตถุมงคลของท่าน ที่สามารถสอบถามได้จากปากต่อปากของผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่น ผู้เฒ่าผู้แก่ เคยเล่าให้ฟังว่า พระอุปัชฌาย์กรัก ท่านมีความขลังในด้านลงกระหม่อมด้วยขมิ้นชัน ขนาดถูกตีจนหัวน่วมก็ไม่แตก
ท่านมีศิษย์คือ พระครูอมรสมณคุณ (สว่าง อมโร) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวันรูปต่อมาจากหลวงปู่กรัก และมีสหธรรมิกคือ พระอาจารย์ละโว้ วัดปรมัยยิกาวาส นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าท่านยังมีความสนิทสนมกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ถึงขนาดตอนที่หลวงพ่อกลั่นสร้างเหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้นิมนต์หลวงพ่อกรัก ไปร่วมปลุกเสกเหรียญที่วัดพระญาติอีกด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ อาจารย์เภา อดีตนักเล่นเหรียญที่ยิ่งยง เป็นศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อมได้เคยกล่าวถึงหลวงพ่อกรัก วัดอัมพวันเสมอว่า..
“ท่านองค์นี้เก่งกล้าวิชาอาคมสูง แม้แต่หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ยังไว้วางใจมาก และกล่าวยกย่องท่านเสมอ..”
หลวงปู่กรักมรณภาพ ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันตักบาตรพระร้อยหรือวันตักบาตรเทโว เช้าวันนั้นท่านนั่งเรือไปรับบาตรจากชาวบ้านเหมือนปกติที่ทำอยู่ทุกปี พอตกเย็นท่านเกิดอาพาธกะทันหันด้วยความชราภาพมาก พระภิกษุสามเณรและคณะศิษย์ให้การอุปัฏฐากดูแลท่านด้วยดี ท้ายสุดท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบในวันนั้นนั่นเอง ตรงกับวันพฤหัส แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๔ ต.ค. พ.ศ. ๒๔๘๖ รวมสิริอายุ ๙๑ ปี พรรษา ๗๐
(หมายเหตุจาก webmaster ในเรื่องวันมรณภาพของท่านนั้นมีข้อมูลจากหลายแหล่งที่มีข้อความไม่ตรงกัน บางตำนานระบุว่า พระอุปัชฌาย์กรัก มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ สิริอายุได้ ๘๕ ปี พรรษาที่ ๖๕ บางตำนานระบุว่า ท่านมรณภาพ วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งวันนี้ไม่ใช่วันตักบาตรเทโว ตามที่ประวัติของท่านทุกสำนวนระบุว่าท่านมรณภาพในวันตักบาตรเทโว ซึ่งตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ แต่ปีไม่ตรงกัน)
พระเครื่องพระอุปัชฌาย์กรัก และวัตถุมงคลของ “พระอุปัชฌาย์กรัก” นั้น เหรียญรุ่นแรกของ “หลวงพ่อกรัก” ท่านสร้างในปีพ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นเหรียญรูปท่านนั่งเต็มองค์ มีทั้งเหรียญกลมและเหรียญรูปไข่ โดยเหรียญกลมนั้นสร้างขึ้นก่อน จำนวน ๕๐๐ เหรียญและท่านได้แจกจ่ายให้กับลูกศิษย์ไปจนหมดในเวลาอันรวดเร็ว ลูกศิษย์จึงเรียกร้องให้ท่านสร้างขึ้นอีก ท่านจึงสร้างเป็นรุ่นที่สอง ในปลายปีเดียวกัน แต่รุ่นนี้ท่านสร้างขึ้นซึ่งเป็นเรียญรูปไข่ แต่ลวดลายของเหรียญเหมือนกันทุกประการ รุ่นนี้ท่านสร้างขึ้นประมาณ ๑,๐๐๐ เหรียญ เหรียญทั้งสองรุ่นมีสร้างเฉพาะเนื้อทองแดง คือ ทองแดงกะหลั่ยทอง และทองแดงผิวไฟ ด้านหลังท่านจะลงด้วยคาถา ทุ สะ นิ มะ คือย่อมาจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพื่อให้มีความหมายถึงการสั่งสอนศิษย์ให้รู้ว่า ทุกข์คือการไม่สบายใจและกาย สมุทัยคือ ต้นเหตุแห่งการเกิดทุกข์ ได้แก่กิเลสตัณหาต่างๆ นิโรธคือ แนว ทางที่จะปฏิบัติให้ดับทุกข์ มรรคคือ วัตรปฏิบัติเพื่อจะมุ่งพระนิพพานอย่างแท้จริง คาถาล้อมรอบในกลีบดอกบัวก็คือ มะอะอุ อะอุมะ อุมะอะ สลับกลับไปกลับมา ส่วนที่ด้านหน้า ระบุปี พ.ศ. ๒๔๖๙ และคำว่า พระอุปัชฌากรัก
นอกจากนี้ยังมี เหรียญหลวงพ่อกรัก รุ่นสาม สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยทำรูปทรงคล้ายเหรียญกลมแบบรุ่นแรก โดยเปลี่ยน พ.ศ.ด้านล่างเหรียญเป็น พ.ศ. ๒๔๗๘ อันเป็นปีที่สร้าง โดยพระอาจารย์กราว ซึ่งเป็นหลานของท่านเป็นผู้สร้างให้พระอุปัชฌาย์กรัก ท่านปลุกเสก มีเรื่องเล่าว่าเหรียญรุ่นนี้เมื่อหลวงปู่กรักปลุกเสกแล้วท่านก็มิได้คืนให้พระอาจารย์กราว เพราะเกรงว่าจะมีการนำไปจำหน่ายทำให้เสียชื่อ เพราะโดยปกติแล้ว หลวงพ่อท่านจะแจกฟรี จนกระทั่งพระอาจารย์กราวได้มรณภาพลง ท่านจึงได้นำมาแจกในงานฌาปนกิจศพพระอาจารย์กราวจนหมดสิ้น
เหรียญของพระอุปัชฌาย์กรัก นั้นปัจจุบันหาได้ค่อนข้างยาก เพราะสร้างน้อย และเป็นที่นิยมหวงแหนของชาวลพบุรี
วัดอัมพวันที่เป็นวัดหลวงพ่อกรักนั้น นอกจากชื่อวัดอัมพวันแล้ว ยังมีชาวบ้านเรียกขานชื่อวัดไปต่าง ๆ กันอีกหลายชื่อ เช่น “วัดค้างคาว” ด้วยเหตุที่สมัย ก่อนนั้นในเขตวัดอัมพวันมีค้างคาวแม่ไก่มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีทหารและชาวบ้านมาลอบยิงไปทำอาหารอยู่เนือง ๆ จึงเกิดเรื่องเล่าถึงหลวงปู่ทอกรักเมตตาแก่ฝูงค้างคาวที่อาศัยอยู่ในวัด โดยเมื่อหลวงปู่ทอกรักทราบเรื่องฝูงค้างคาวโดนรบกวนโดยทหารและชาวบ้าน ท่านก็เกิดความเมตตาสงสารค้างคาวเหล่านั้น มีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่ทอกรักได้ลงมาจากกุฏิเอามือตบลงบนต้นโพธิ์หน้าพระอุโบสถ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงค้างคาว เสมือนเป็นการแผ่เมตตาจิตคุ้มครองภยันตรายแก่ฝูงค้างคาว และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครสามารถทำอันตรายฝูงค้างคาวดังกล่าวอีกเลย แม้แต่ปืนก็ยิงไม่ออก เรื่องนี้จึงกลายเป็นตำนานที่ผู้คนกล่าวขวัญถึงความเมตตากรุณา ความเป็นผู้มีวิชาอาคมด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย ส่วนเรื่องราวที่แท้จริงเป็นประการใดนั้นไม่มีผู้ยืนยัน แต่คาดว่าสถานที่บริเวณนั้นคงต้องมีฝูงค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้คนสัญจรผ่านไปมาจึงขนานนามวัดแห่งนี้ตามสภาพที่พบเห็นเด่นชัดว่า “วัดค้างคาว”