ประวัติ หลวงปู่จำปา วัดสาลีโข
“หลวงพ่อจำปา นารโท” ยอดเกจิสักยันต์
ตำนานวลีอมตะ“หนังไม่เหนียว ห้ามเที่ยวสาลีโข”
“จอมพลสฤษดิ์”เลื่อมใสบุกนมัสการถึงวัด!
วัดสาลีโขภิตาราม ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรีสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม พ.ศ. 2399 โดยมีนางบุญมี ละนางบุญมา สองพี่น้อง เป็นผู้สร้างวัด ได้ตั้งความปรารถนาที่จะทำนาจึงอธิษฐาน และสำเร็จตามคำอธิษฐาน จึงได้บริจาคที่เพื่อสร้างวัดนี้ขึ้นและให้ชื่อว่า “วัดสาลีโค” ซึ่งมีความหมายว่า “ข้าวมาก” ต่อมาได้เพิ่มเป็น “วัดสาลีโขภิรตาราม” จนถึงทุกวันนี้ ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถปางมารวิชัย สร้างเมื่อ พ.ศ.2515 พระประธานประจำศาลาการเปรียญปางมารวิชัยสร้างเมื่อ พ.ศ.2536 หลวงพ่อคำ หลวงพ่อศิลาแลง รูปหล่อหลวงปู่เผือก รูปหล่อหลวงพ่อจำปา พระพุทธชินราช พระพุทธโสธร หลวงปู่ทวด รอยพระพุทธบาทจำลอง และท้าวมหาพรหม
ในอดีตชุมชนย่านวัดสาลีโขขึ้นชื่อว่าเป็นดงนักเลง ถึงกับมีคำพูดกันติดปากว่า “หนังไม่เหนียว ห้ามเที่ยวสาลีโข” วลีเด็ดนี้เป็นที่คุ้นหูคุ้นปากกันดีในหมู่นักเลงยุคเก่าราว 70 ปีก่อนจนกลายเป็นตำนานความขลังที่โด่งดังมาจนทุกวันนี้ โดยผู้ที่ทำให้เกิดตำนานวลีเด็ดนี้ก็คือ “หลวงพ่อจำปา นารโท” แห่งวัดสาลีโขภิตาราม
ท่านเป็นเกจิอาจารย์ดังแห่งภาคกลาง (ช่วงปีพ.ศ.2485-2504) ที่มีพุทธาคมเข้มขลัง โดยเฉพาะตะกรุดที่เขียนยันต์โสฬส ตามแบบฉบับของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ นอกจากนี้เป็นศิษย์พุทธาคมสายตรงของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งในจังหวัดนนทบุรีมีหลวงพ่อจำปากับหลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพังที่ไปร่ำเรียนวิชาจากหลวงปู่ศุข
ส่วนวิชาสักหลวงพ่อจำปาน่าจะได้จากหลวงปู่ศุข เพราะสมัยหลวงปู่ศุขมีชีวิตอยู่ท่านก็เป็นอาจารย์สักเหมือนกัน โดยลูกศิษย์ฆราวาสอีกคนที่มีชื่อเลื่องลือก็คือ”อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว” ที่ได้รับการกล่าวขานเป็น”สายเหนียวทางแม่กลอง”
หลวงพ่อจำปาท่านมีวิชาสักยันต์ที่ขลังมากๆ ลายสักยันต์ของท่านนั้นมีความขลังด้านคงกระพันและเมตตามหานิยม ลูกศิษย์ของหลวงพ่อจำปามีตั้งแต่นายทหาร นายตำรวจ พ่อค้า ประชาชนทั่วไป ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงปกครอง บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย อีกทั้งมีสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้คนอดอยาก โจรผู้ร้ายชุกชุม ปรากฏว่ามีผู้คนต่างพากันมาขอเครื่องรางของขลัง บางคนเดินทางมาไกลเพื่อมาขอเป็นลูกศิษย์และขอให้หลวงพ่อสักยันต์ให้ ยันต์ของหลวงพ่อจะลงศีรษะพระที่กระหม่อม แล้วจึงมาลงตัวองค์พระต่อไป
โดยเฉพาะเหล่ามือปราบทั้งหลายที่กวาดล้างโจรภาคกลาง ก่อนจะออกพื้นที่ เอาตะกรุดโทน เขียนด้วยยันต์โสฬส ใส่มือยกขึ้นพนมเหนือหัวระลึกถึงหลวงพ่อจำปา แล้วออกไปทำงาน ปะทะกับโจรแลกกระสุนใส่กัน ต่างฝ่ายต่างล้มคว่ำกันไปคนละทาง แต่มือปราบแค่เจ็บเป็นจ้ำๆ เสื้อผ้าเป็นรอยไหม้ ลุกขึ้นมาได้ แต่โจรร้าย คว่ำแล้วคว่ำเลย ไม่มีลุก กลับบ้านเก่าไปตามระเบียบ!
แม้แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังเดินทางมากราบนมัสการหลวงพ่อถึงวัดสาลีโข เพราะได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านมานาน
ลูกศิษย์ที่เรียนวิชากับท่านมีอยู่หลายท่าน อาทิ 1.หลวงพ่ออุ่น (พระครูนนทสีลาภรณ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดสาลีโข องค์นี้ไม่ได้สัก 2.หลวงพ่อสมภพ วัดสาลีโข องค์นี้จะดังมากเรื่องการสักและวัตถุมงคล และท่านยังเป็นร่างทรงหลวงปู่เผือกอีกด้วย 3.อาจารย์ละห้อย คล้ายสิงห์ เป็นอาจารย์สักสายฆราวาสที่มีชื่อเสียงดังพอสมควร 4.พระอาจารย์สนิท(อยู่แถวปากน้ำ สมุทรปราการ) 5.พระอาจารย์อาด วัดเจ้าอาม กทม. 6.หลวงพ่อประเทือง วัดสาลีโข เมื่อก่อนท่านก็มีสักเหมือนกัน แต่ปัจจุบันเลิกสักเพราะอายุมากแล้ว และเป็นศิษย์หลวงพ่อจำปาท่านเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่
อาจารย์ละห้อย คล้ายสิงห์ได้ย้อนเรื่องราวในอดีตให้ฟังว่า ระหว่างพายเรือบิณฑบาต หลวงพ่อจำปาได้ให้ข้อคิดแก่ท่านว่า ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส หากได้ปฏิบัติสมถวิปัสสนาภาวนาจนได้อภิญญา จึงสามารถสร้างเครื่องรางของขลัง น้ำมนต์ ตะกรุด ผ้ายันต์ พระเครื่อง จะให้ศักดิ์สิทธิ์มีอานุภาพตามเจตนาของผู้ทำนั้น ต้องมีศีลบริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อยแม้แต่เล็กน้อย จะทำให้จิตใจผ่องแผ้วแจ่มใส และเป็นพื้นฐานแรกของผู้ที่จะทำของให้ขลังและศักดิ์สิทธิ์ได้ ผู้ที่มีศีลด่างพร้อย แม้แต่เพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถทำอะไรให้เกิดผลได้
จิตบริสุทธิ์ เมื่อมีศีลบริสุทธิ์สะอาดแล้ว ก็เหมือนกับน้ำนิ่ง ไม่มีคลื่นละลอก ไม่วอกแวกหวั่นไหว วิธีทำจิตให้บริสุทธิ์ พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้แล้ว คือ กาทำกรรมฐาน 40 วิธี หรือที่เรียกว่า “ปฏิบัติสมถภาวนา”นั่นเอง เป็นอุบายชำระล้างให้จิตใจบริสุทธิ์ ผู้ที่จะทำให้ของขลังและได้ผล ต้องได้เรียนฝึกปฏิบัติสมถภาวนาแล้วอย่างดี เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว ก็มีพละกำลัง มีอำนาจจิตมาก เพราะสามารถรวบรวมกระแสจิตมารวมไว้ในที่แห่งเดียว และจะมีพลังมาก อย่าว่าแต่จะปลุกเสกพระเครื่อง หรือเครื่องรางของขลังเลย แม้แต่เม็ดกรวดเม็ดทราย ก็เกิดมีพลังงานศักดิ์สิทธิ์ขึ้นได้
นอกจากวลีเด็ด “หนังไม่เหนียว อย่าเที่ยวสาลีโข” แล้ว ยังมีคำที่เรียกว่า”หลังดำ” เพราะสมัยนั้น คนที่ชอบเรื่องเหนียวจะวิ่งไป 2 ที่ คือสายอาจารย์แปลก กับสายหลวงพ่อจำปา โดยจะเรียกศิษย์อาจารย์แปลก ว่า”หลังขาว” เพราะท่านจะสักเฉพาะบนกระหม่อม แต่ที่ตามตัวท่านจะใช้เหล็กจารเอา ส่วนทางสายหลวงพ่อจำปาจะสักหมึกทั้งตัว จึงเรียกว่า”หลังดำ” ว่ากันว่า 2 สายนี้เจอกันไม่ได้ ต้องมีการลองของกันตลอด แต่ก็ไม่เคยเสื่อมเสียมาถึงอาจารย์ เพราะสองสายนี้ถือว่า”โคตรเหนียว”
หลวงพ่อจำปาละสังขารลงในปีพ.ศ.2504 บรรดาศิษยานุศิษย์และชาวบ้านพากันเศร้าโศกเสียใจ ที่ขาดเสาหลักของชุมชนไป ทางวัดจัดงานศพหลวงพ่อและพิธีการต่างๆอย่างเต็มกำลัง จวบจนถึงปีพ.ศ. 2507จึงทำพิธีฌาปนกิจสรีระหลวงพ่อจำปา เมื่อร่างของหลวงพ่อเหลือแต่อังคารและเถ้าธุลี ปรากฏว่าคลื่นศรัทธามหาชนต่างเข้ายื้อแย่งชุลมุนจนเป็นเหตุให้เมรุที่สร้างขึ้นในการนี้ถึงกับพังลง
วัตถุมงคลของวัดสาลีโขนั้นได้รับความนิยมมากสำนักหนึ่ง โดยเฉพาะวัตถุมงคลของพระครูธรรมโกศลหรือ”หลวงปู่เผือก” สุดยอดปรมาจารย์อายุยืนถึง 106 ปี ที่ดำเนินการจัดสร้างโดย”หลวงพ่อสมภพ เตชปุญโญ” ที่ถูกหลวงปู่เผือกในสภาวะวิญญาณ โดยการประทับร่างทรงหลวงปู่เผือกปลุกเสก (เหมือนพระอาจารย์ทิมกับหลวงปู่ทวด วัดช้างไห้)
หลวงปู่เผือกเป็นพระเถระผู้มักน้อย นิยมสันโดษ และยินดีเจริญสมณธรรม อยู่ในเสนาสนะอันสงบ สงัดตามป่าเขา ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยได้บรรลุผลตามสมควร พร้อมทั้งเป็นผู้คงแก่เรียนในพุทธศาสตร์วิทยาคมชั้นสูง รอบรู้ตำรับพิชัยสงคราม และศาสตร์อื่นๆ อีกนานาประการ วัดสาลีโขในยุคแรกที่หลวงปู่เผือกปกครองวัด เป็นยุคที่เจริญที่สุดมีพระภิกษุสามเณร และลูกศิษย์ลูกหามากมาย กิตติศัพท์ของหลวงปู่เผือกก็เป็นที่กล่าวขวัญกันมากขึ้น มีชาวบ้านมาฝากกตัวเป็นลูกศิษย์กันมาก ส่วนมากก็จะมาขอเครื่องรางของขลัง บ้างก็มาขอให้หลวงปู่เผือกลงกระหม่อม จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงทราบในเกียรติคุณ จึงทรงพระราชทานสมณศักดิ์แก่หลวงปู่เผือกเป็น “พระครูธรรมโกศล” ในปี 2399
สำหรับหลวงพ่อจำปาท่านสร้างวัตถุมงคลไว้ไม่ค่อยเยอะ จะมีจำพวกตะกรุด ผ้ายันต์ มีปลุกเสกเหรียญรูปเหมือนท่านอยู่รุ่นหนึ่ง เมื่อครั้งที่ท่านย้ายไปอยู่วัดเจ้าอาม เขตบางขุนนนท์ กทม. เพราะถูกทางการสั่งห้ามสักยันต์ เหรียญรุ่นนี้เท่าที่ทราบสร้างประมาณ ปี 2492-2493 เพื่อแจกลูกศิษย์ในงานไหว้ครู ซึ่งนับว่าเป็นรุ่นแรก มีเนื้อทอง, ทองแดง, กะไหล่ทอง, กะไหล่เงิน และเนื้อเงิน
ส่วนเหรียญรุ่น2 (รุ่นแรกที่ออกวัดสาลีโข) ไม่ทันท่าน เป็นเหรียญแจกงานศพ ปีพ.ศ.2507 กล่าวกันว่า หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงปู่เทียม วัดกษัตราธิราช มาร่วมปลุกเสกให้ มี 2 บล็อกคือ บล็อกด้านหลังไม่มีพ.ศ. (นิยม) อาจารย์ละห้อย คล้ายสิงห์ จัดสร้าง และบล็อกมีพ.ศ.ซึ่งหลวงพ่ออุ่นเป็นผู้สร้าง
เรื่องราวของหลวงพ่อจำปานั้นมีข้อมูลหลากหลายประเด็น อาจมีการนำเสนอไม่ครบถ้วน เพราะรวบรวมจากบันทึกของผู้รู้หลายท่าน ซึ่งสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ต่างๆที่เกี่ยวกับการสักยันต์ แต่ที่แน่ๆวัตถุมงคลของสายสาลีโข โชว์ได้ไม่อายใคร วางใจได้เรื่อง”เหนียว” แต่ห้ามลองของ ผู้ที่มีเครื่องรางของขลัง หรือสักยันต์ของหลวงพ่อจำปาซึ่งมีความขลังด้านคงกระพันและเมตตา ถ้าไม่ไปทำผิดศีลธรรมหรือชะตาถึงฆาต ทุกคนล้วนปลอดภัยกันเป็นส่วนใหญ่