ประวัติ หลวงปู่ดูลย์ วัดบูรพาราม

ประวัติ หลวงปู่ดูลย์ วัดบูรพาราม

เมื่อราว 20 ปีก่อน ผู้เขียนได้เคยไปกราบ “หลวงปู่ดุลย์ อตุโล” ที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ และได้หนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อ “หลวงปู่ฝากไว้” เป็นบันทึกคติธรรมและธรรมเทศนาของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

จากการบันทึกของ พระครูนันทะปัญญาภรณ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2528 ได้ระบุว่า “หลายท่านได้เรียกร้อง ตามหาถึงพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ อยากจะได้ฟังได้อ่าน อาตมาภาพขอสารภาพตามความเป็นจริงว่า ธรรมเทศนาหรือโอวาทของหลวงปู่นั้นเป็นสิ่งที่หาได้ยากอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากท่านไม่เคยเทศน์เป็นกัณฑ์ๆ หรือแสดงเป็นเรื่องราวยาวๆ เพียงแต่เมื่อสอนภาวนา หรือกล่าวตักเตือนลูกศิษย์ หรือตอบคำถาม ตลอดถึงสนทนากับพระเถระอื่นๆ หลวงปู่จะกล่าวอย่างสั้นๆ ด้วยความระมัดระวัง ยกข้อธรรมมากล่าวอย่างย่อๆ เท่านั้นเอง นอกจากนี้ ท่านไม่เคยแสดงในพิธีการงานใดๆ อีกเลย”

โอกาสนี้ ผู้เขียนจึงอยากจะหยิบยกประวัติของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล รวมถึงธรรมที่ท่านได้ถ่ายทอดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าคุณค่าแก่การเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ทราบทั่วกัน

“หลวงปู่ดูลย์ อตุโล” นับเป็นศิษย์อาวุโสรุ่นแรกสุดของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายอาริยะวาสีในยุคปัจจุบัน พระเถระที่เป็นสหมิตรและมีอายุรุ่นเดียวกันกับหลวงปู่ดูลย์ ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาละวัน นครราชสีมา และหลวงปู่ขาว
อนาลโย วัดถ้ำกองเพล จังหวัดอุดรธานี ด้วยความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงมีศิษย์สำคัญๆ หลายองค์ ศิษย์รุ่นแรกๆ ก็มี “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร “หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ” วัดป่านิโกรธาราม จังหวัดอุดรธานี “หลวงปู่สาม อกิญจโน” วัดป่าไตรวิเวก จังหวัดสุรินทร์ และพระเทพสุธาจารย์ (หลวงปู่ชาติ คุณสมฺปนฺโน) วัดชิราลงกรณ์ อำเภอปากช่อง นครราชสีมา สำหรับศิษย์อาวุโสของหลวงปู่ดุลย์ ได้แก่ พระวิสุทธิธรรมรังสี (หลวงพ่อเปลี่ยน โอรโส) วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ หลวงพ่อสุวรรณ สุดใจ วัดถ้ำศรีแก้ว จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นพระอริยะเจ้าที่มีคุณธรรมล้ำลึก ท่านเน้นการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาสั่งสอน สำหรับพระสงฆ์และญาติโยมที่เข้าไปกราบนมัสการและขอฟังธรรม หลวงปู่มักจะให้ธรรมะสั้นๆ แต่มีความล้ำลึกสูงชั้นเสมอ ท่านเทศน์เรื่อง “จิต” เพียงอย่างเดียว โดยจะย้ำให้เรา “พิจารณาในจิต” อยู่เสมอ

หลวงปู่ดูลย์ เกิดปีชวด วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2431 ที่บ้านปราสาท ต. เฉนียง จ.สุรินทร์ โดยมีท่านพระครูวิมลศีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในพรรษาที่ 6 หลวงปู่ได้เดินทางด้วยเท้าไปจังหวัดอุบลราชธานี พำนักอยู่ที่วัดสุปัฎนาราม เพื่อเรียนปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี แล้วเรียนบาลีไวยากรณ์ต่อ ถึงแปล
ลมูลกัจจายน์ได้

“หลวงปู่” ได้รู้จักชอบพอกับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนามของแม่ทัพใหญ่แห่ง “กองทัพธรรม” ในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทำการเผยแผ่ธรรมะในสาย “พุทโธ” จนแพร่หลายมาตราบนานเท่าทุกวันนี้ ในปีที่ 2 ที่หลวงปู่ไปพำนักอยู่ที่อุบลราชธานี หลวงปู่ดูลย์และหลวงปู่สิงห์ สองสหายผู้ใคร่ธรรม ได้ไปกราบนมัสการและฟังธรรมของพระอาจารย์ใหญ่ และเกิดความอัศจรรย์ใจและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจ เลิกละการเรียนด้านปริยัติธรรมะ แล้วออกธุดงค์ ตามหลวงปู่มั่นไปในที่ต่างๆ อยู่นานปี

“หลวงปู่ดูลย์” เที่ยวเดินธุดงค์หาความวิเวกตามป่าเขานานถึง 19 ปี จึงได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการคณะสงฆ์ให้หลวงปู่เดินทางไปประจำอยู่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อจัดการศึกษาด้านปริยัติธรรม และเผยแพร่ข้อปฏิบัติ
ทางกัมมัฎฐานไปด้วยกัน หลวงปู่จึงได้ไปพำนักอยู่ประจำที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2477 จนบั้นปลายชีวิตของท่าน

นับตั้งแต่บัดนั้นมา “แสงแห่งรัศมีของพระธรรม” ทั้งทางปริยัติและทางปฏิบัติ ก็เริ่มฉายแสงรุ่งเรืองตลอดมา โดยหลวงปู่มีภาระทั้งฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ บริหารงานพระศาสนาอย่างเต็มกำลังสามารถ ในปฏิบัติส่วนตัวของท่านนั้นไม่เคยละทิ้งกิจธุดงค์บำเพ็ญเพียรทางใจอย่างสม่ำเสมอตลอดมา ด้วยเหตุที่หลวงปู่มีเมตตาธรรมสูงจึงช่วยสงเคราะห์บุคคลทั่วไปได้อย่างกว้างขวางโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

“หลวงปู่” มีสุขภาพดีอย่างยิ่ง แข็งแรง ว่องไว ผิวพรรณแจ่มใส มีเมตตาเป็นอารมณ์ สงบเสงี่ยม เยือกเย็นทำให้ผู้ใกล้ชิด และผู้ได้กราบไหว้ เกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสนิทใจ

ทางวาจา ท่านเสียงใหญ่ แต่พูดเบา พูดน้อย พูดสั้น พูดจริง พูดตรง ปราศจากมารยาทางคำพูด คือ ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดโอ๋ ไม่พูดปลอบโยน ไม่พูดประชด ไม่คิดนินทา ไม่พูดขอร้อง ขออภัย ไม่พูดขอโทษ ไม่พูดถึงความฝัน ไม่พูดเล่านิทานตลกหรือนิทานปรัมปรา เป็นต้น

ทางใจ ท่านมีสัจจะ ตั้งใจทำสิ่งใดก็จะทำจนสำเร็จ มีเมตตากรุณาเป็นประจำ สงบเยือกเย็น อดทน ไม่เคยมีอาการกระวนกระวายวู่วาม ไม่แสดงความฮึดฮัด หงุดหงิด หรือรำคาญ
ไม่แสวงหาทองเพื่อสั่งสม หรืออาลัยอาวรณ์กับของที่สูญหายไป ไม่ประมาท

รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะ และเบิกบานอยู่เสมอ เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์ ไม่หลั่งไหลไปตามเหตุการณ์ และเบิกบานอยู่เสมอ เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์ ไม่ถูกภาวะอื่นครอบงำ ท่านสอนอยู่เสมอว่า “ให้ทำความเข้าใจกับสภาวธรรมอย่างชัดแจ้งว่า เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง สลายไป อย่าทุกข์โศกเพราะสภาวะนั้นเป็นเหตุ”

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระอริยเจ้าผู้ประเสริฐได้ละเสียซึ่งสังขารเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2526 สิริรวมอายุได้ 96 ปี กับ 26 วัน พระอรหันต์ธาตุของท่านได้เก็บรักษาไว้ให้สาธุชนได้สักการะที่ “พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน” ในวัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

ส่วนคำสอนของหลวงปู่ ซึ่งเป็นคำสอนสั้นๆ และเฉียบคมล้ำลึกนั้น ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนีได้รวบรวมและพิมพ์ไว้ในหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” หลวงปู่เน้นเรื่อง “การปฏิบัติภาวนา” ให้พิจารณา “จิตใจจิตจนรู้แจ้ง” ท่านเทศนาเพียงสั้นแต่เฉียบคม ท่านสอนว่า… “หลักธรรมที่แท้จริง ‘จิต’ ของเราทุกคนนั้นแหละ คือหลักธรรมสูงสุด ที่อยู่ใน ‘จิต’ เรา นอกนั้นแล้วมันไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย ของให้เลิก ละ การคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น จิตในจิตจะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในทุกคน”

ขอยกคติธรรมคำสอน คำเตือน และธรรมะของหลวงปู่ที่หลวงปู่ชอบยกขึ้นมาปรารภให้ฟัง
เสมอๆ บางส่วนบางตอนมาให้ทราบสังเขป ดังนี้

1.ธรรมะปฏิสันถาร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯไปทรงเยี่ยมหลวงปู่เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงถามถึงสุขภาพอนามัยและการอยู่สำราญแห่งอิริยาบถของหลวงปู่ ตลอดถึงทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชปุจฉาว่า “หลวงปู่การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน” หลวงปู่ถวายวิสัชนาว่า “กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน”

2.หลวงปู่ไม่ฝืนสังขาร ทุกครั้งที่ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมหลวงปู่หลังจากเสร็จพระราชกรณียกิจในการเยี่ยมแล้ว เมื่อจะเสด็จกลับ ทรงมีพระดำรัสคำสุดท้ายว่า “ขออาราธนาหลวงปู่ดำรงขันธ์อยู่เกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่รับได้ไหม” ทั้งๆ ที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับและไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า “อาตมาภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง”

3.ปรารถธรรมะเรื่องอริยสัจจสี่ พระเถระฝ่าย
กัมมัฏฐานเข้าถวายสักการะหลวงปู่ในวันเข้าพรรษาปี 2499 หลังฟังโอวาทและข้อธรรมะอันลึกซึ้งข้ออื่นๆ แล้ว หลวงปู่สรุปใจความอริยสัจสี่ให้ฟังว่า “จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์ จิตเห็นจิต เป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ”

4.หลักธรรมแท้ มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติชอบพูดถึง คือ ขอบโจษขานกันว่านั่งภาวนาแล้วเห็นอะไรบ้าง ปรากฏอะไรมาบ้าง หรือไม่ก็ว่าตนนั่งภาวนามานานแล้วไม่เคยเห็นปรากฏอะไรออกมาบ้างเลย หรือไม่บางคนก็ว่า ตนได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ ทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ภาวนาแล้วตนจะได้เห็นสิ่งที่ต้องการ เป็นต้น หลวงปู่เคยเตือนว่า การปรารถนาเช่นนั้นผิดทั้งหมด เพราะการภาวนานั้นเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริง “หลักธรรมที่แท้จริงนั้น คือ จิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้งแล้ว นั่นแหละ ได้แล้วซึ่งหลักธรรม”

5.วิธีระงับดับทุกข์แบบหลวงปู่ ระหว่าง พ.ศ.2520 โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ กำลังครอบงำ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยอย่างหนัก คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และทุกข์ แน่นอน ความทุกข์โศก อันนี้ย่อมปกคลุมถึงบุตรภรรยาด้วย จึงมีอยู่วันหนึ่ง คุณหญิงคุณนายหลายท่านได้ไปนมัสการหลวงปู่ พรรณนาถึงความทุกข์โศกที่กำลังได้รับอยู่เพื่อให้หลวงปู่ได้แนะวิธี หรือช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ท่านจะเมตตา หลวงปู่กล่าวว่า “บุคคลไม่ควรเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งนอกกายทั้งหลายที่มันผ่านพ้นไปแล้ว มันหมดไปแล้ว เพราะสิ่งเหล่านั้น มันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้องโดยสมบูรณ์ที่สุดแล้ว”

6.รู้จากการเรียนกับรู้จากการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ ที่กระผมจำจากตำราและฟังครูสอนนั้น จะตรงกับเนื้อหาตามที่หลวงปู่เข้าใจ หลวงปู่อธิบายว่า “ศีล” คือ ปกติจิตอยู่ปราศจากโทษ เป็นจิตที่มีเกราะกำบังป้องกันการกระทำช่วงทุกอย่าง สมาธิ ผลสืบเนื่องมาจากการรักษาศีล คือ จิตที่มีความมั่นคง มีความสงบ เป็นพลังที่จะส่งต่อไปอีก ปัญญา ผู้รู้ คือ จิตที่ว่าง เบาสบาย รู้แจ้ง แทงตลอดตามความเป็นจริงอย่างไร วิมุติ คือ จิตที่เข้าถึงความว่าง จากความว่าง คือ ละความสบาย เหลือแต่ความไม่มีไม่เป็น ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย

7.การค้ากับการปฏิบัติธรรม พวกกระผมมีภาระหน้าที่ในการค้าขาย ซึ่งบางครั้งจะต้องพูดอะไรออกไปเกินความเป็นจริงบ้าง ค้ากำไรเกินควรบ้าง แต่กระผมก็มีความสนใจและเลื่อมใสในการปฏิบัติ ทางสมาธิภาวนาอย่างยิ่ง แล้วก็ได้ลงมือปฏิบัติมาบ้างแล้วโดยลำดับ แต่บางท่านบอกว่าภาระหน้าที่อย่างผมนี้ มาปฏิบัติภาวนาไม่ได้ผลหรอก หลวงปู่เห็นว่าอย่างไร เพราะเขาว่าขายของเอากำไรก็เป็นบาปอยู่ หลวงปู่ว่า “เพื่อดำรงชีพอยู่ได้ ทุกคนจึงต้องมีอาชีพการงาน และอาชีพการงานทุกสาขาย่อมมีความถูกต้อง ความเหมาะความควรอยู่ในตัวของมัน เมื่อทำให้ถูกต้องพอเหมาะพอควรแล้ว ก็เป็นอัพยากตธรรม ไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญแต่ประการใด ส่วนการประพฤติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะผู้ประพฤติธรรมเท่านั้น ย่อมสมควรแก่การงานทุกกรณี”

8.อยากเรียนเก่ง หนูได้ฟังคุณตาสรศักดิ์ กองสุข แนะนำว่า ถ้าใครต้องการเรียนเก่งและฉลาด ต้องหัดนั่งภาวนา ทำสมาธิให้ใจสงบเสียก่อน หนูอยากเรียนเก่งเรียนฉลาดอย่างเขา จึงพยายามนั่งภาวนาทำใจให้สงบ แต่ใจมันก็ไม่ยอมสงบสักที บางทีก็ยิ่งทวีความฟุ้งซ่านมากขึ้นก็มี เมื่อใจไม่สงบเช่นนี้ ทำอย่างไรจึงจะเรียนเก่งเจ้าคะ หลวงปู่ว่า “เรียนอะไร ก็ให้มันรู้อันนั้น เดี๋ยวก็เก่งเองแหละ ที่ใจไม่สงบ ก็ให้รู้ว่ามันไม่สงบ เพราะอยากสงบ มันจึงไม่สงบ ขอให้พยายามภาวนาเรื่อยๆ ไปเถอะ สังวันหนึ่งก็จะได้สงบตามต้องการ”

คติธรรมหรือธรรมะ 8 ข้อ ที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ ที่กล่าวมานั้น “ท่านพระครูปัญญาภรณ์” ได้ระบุข้อน่าสังเกตและน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งว่า “หลวงปู่มีคติเป็นผู้ไม่พูดหรือพูดน้อยที่สุด แต่มีปฏิภาณไหวพริบเร็วฉับไวมาก พูดสั้นย่อไม่มีผิดพลาด แต่อมความหมายไว้อย่างสมบูรณ์ คำพูดของท่านแต่ละประโยคมีความหมายและเนื้อหาจบลงโดยสิ้นเชิง เหมือนหนึ่งสะกดจิตผู้ฟังหรือผู้ถามให้ฉุกคิดเป็นเวลานาน แล้วก็ต้องใช้ความตริตรอง