ประวัติ หลวงพ่อทรัพย์ วัดสังฆราชาวาส
❖ ประวัติ ❖
พระราชสิงหวรมุนี มีนามเดิมว่า ทรัพย์ นามสกุล เข็มกลัดมุกต์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ตรงกับวันพุธ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย โยมบิดาชื่อ หลำ โยมมารดาชื่อ บู่ เกิดที่บ้านหลักฟ้า อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง
มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา เดียวกัน ๘ คน คือ
๑. พระราชสิงหวรมุนี (หลวงพ่อทรัพย์)
๒. พระครูสินธุวรคุณ (หลวงพ่อสิน)
๓. นายเจริญ เข็มกลัดมุกต์
๔. นายกวย เข็มกลัดมุกต์
๕. นายไกร เข็มกลัดมุกต์
๖. นางตลุ่ม ทรัพย์ศฤงคาร
๗. นางเล็ก คุ้มครอง
๘. นางตุ่ม ไวว่อง
ย้อนไปถึงสมัยที่ท่านเป็นเด็ก อายุประมาณ ๘ ขวบเศษ (ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๖) ท่านได้มาอยู่กับคุณย่าของท่านที่ชื่อ ย่ามุก ที่มีบ้านตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน “บ้านใหม่” ซึ่งอยู่แถวๆศาลเจ้า ตรงข้ามโรงหนังคู่รักรามา คุณย่าของท่านเจ้าคุณ เป็นคนมีธรรมะ ไปอยู่วัดทุกวันพระ เมื่อท่านมาอยู่กับคุณย่าแล้ว ก็จำต้องตามคุณย่าของท่านไปวัดสังฆราชาวาส ไปทำอุโบสถทุกวันพระ โดยที่ท่านเจ้าคุณ สมัยเด็กจะนุ่งกางเกงขาสั้นสีขาว ใส่เสื้อขาว และโกนผม ถือศีล ด้วยความที่ท่านเจ้าคุณเป็นเด็กที่มีสมองดีเลิศ มีความจำที่แม่น ท่านมีความอุตสาหะในการท่องบ่น จึงส่งผลให้ท่านสวดมนต์เก่งมาตั้งแต่ยังเด็ก ท่านจึงช่วยทำการสอนสวดมนต์ ทำวัตรแก่อุบาสก อุบาสิกา ที่ไปถือศีลอยู่ในวัดในวันพระด้วย จนพวกอุบาสก อุบาสิกา พร้อมใจกันเรียก อาจารย์ทรัพย์ มาแต่เล็กแต่น้อย ท่านปฏิบัติแบบนี้เรื่อยมา
❖ บรรพชา-อุปสมบท ❖
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้บรรพชาเป็นสามเณร และฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อพูล สาคโร เป็นต้นมา
ครั้นพออายุครบอุปสมบท ท่านจึงเข้าอุปสมบท เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ พัทธสีมาวัดสังฆราชาวาส ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี โดยมี พระครูสิงหราชมุนี (พูล สาคโร) วัดสังฆราชาวาส เป็น พระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ อุ่น วัดสังฆราชาวาส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวินัยธรโต๊ะ วัดข่อย เป็นพระอนุสาวนาจารย์
❖ การศึกษาพระปริยัติธรรม และหน้าที่ทางการคณะสงฆ์ ❖
หลังจากที่อุปสมบทท่านเจ้าคุณก็ร่ำเรียน และ รับการถ่ายทอดทั้งมูลบาลี ตำราขอมโบราณ และศาสตร์ด้านอืนๆจากพระอาจารย์อย่างหมดสิ้น ท่านเจ้าคุณทรัพย์ สำเร็จนักธรรมชั้นตรี ในสำนักเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้
พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็น ครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดสังฆราชาวาส
พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็น เจ้าคณะตำบลบางมัญ
พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็น ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองสิงห์บุรี
พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็น เจ้าอาวาสวัดสังฆราชาวาส
พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็น สาธารณูปการ จังหวัดสิงห์บุรี
พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็น ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี
พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็น เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี
❖ ลำดับสมณศักดิ์ ❖
พ.ศ ๒๔๘๒ เป็น พระปลัดทรัพย์ ฐิตปญฺโญ ฐานานุกรมใน พระครูสิงหราชมุนี (พูล สาคโร) เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี
พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็น พระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูเกศีวิกรม
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระสิงหราชมุนี
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชสิงหวรมุนี สิงห์บุรีคณดิลก ธรรมสาธกคุณวิภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
❖ ด้านคุณธรรม ❖
พระเดชพระคุณท่านเป็นผู้ประกอบไปด้วยคุณธรรม และปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นที่เลื่อมใสของพระสงฆ์ในจังหวัดสิงห์บุรี และ ประชาชน เป็นอย่างมาก ท่านจะหมั่นสอนศิษยานุศิษย์ให้ปฏิบัติตามเพื่อความเจริญในชีวิต กล่าวคือ พระเดชพระคุณเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มาโดยตลอด นับตั้งแต่เป็นพระนวกะ จนล่วงเลยมาเป็นพระมหาเถระ ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร แม้ในวัยชราภาพ พระเดชพระคุณก็ไม่เคยขาดในเรื่องกิจของสงฆ์ ดังที่มีคนเฒ่า คนแก่เคยถ่ายทอดให้ประจักษ์ว่า ครั้นเมื่อชราภาพพระเดชพระคุณก็นั่งเข็นบ้าง รถไสบ้าง พาตนเองเข้าทำวัตร มิเคยขาด จวบจนมรณกาล ท่านได้บำเพ็ญอัตประโยชน์ และปรหิตประโยชน์ ด้วยดีมาโดยตลอด ครั้นเมื่อถึงครั้งที่มีการฉลองสมณศักดิ์ บรรดาศิษยานุศิษย์และบรรพชิตและคฤหัสถ์จึงพร้อมใจกันจัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อเป็นที่ระลึก ในวาระต่างๆ
โดยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ เป็นต้นมา ส่วนเหรียญรุ่นแรกของพระเดชพระคุณ จัดสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ลักษณะเป็นเนื้อทองแดง กาไหล่ทอง และ เนื้ออัลปาก้า ซึ่งจำนวนการจัดสร้างไม่มาก โดยสันนิฐานว่าไม่เกิน ๑,๐๐๐ องค์ รูปแบบการจัดสร้างเป็นเหรียญรูปไข่ ห่มคลุมครึ่งองค์ตามวงรอบขอบเหรียญ เขียนหนังสือด้านบนว่า พระราชสิงหวรมุนี (ทรัพย์) ด้านล่าง เขียนว่า เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ส่วนด้านหลังจะเขียนว่า วัดสังฆราชาวาส ด้านใต้ตัวหนังสือมีอักขระขอม เป็นยันตรีนสิงเห แบบตำรับโบราณ ซึ่งเป็นยันต์เอกลักษณ์ของท่านเอง พร้อมด้านล่างยันต์ มีอักขระขอม อ่านว่า สีหะนาทัง เปรียบเสมือน ราชสีห์ ซึ่งเด่นทางมหาอำนาจ เหรียญรุ่นนี้มีพิธีพุทธาภิเษกในพระอุโบสถอย่างครบถ้วน มีพระเกจิคณาจารย์ ที่มีชื่อเสียงหลายรูปในสมัยนั้นร่วมพิธีพุทธาภิเษกในครั้งนั้นจำนวนมาก
นอกจากนี้พระเดชพระคุณ ยังเป็นที่เคารพของพระเกจิยุคกลาง หลายท่าน อาทิ ได้แต่งตั้งให้ หลวงพ่อซวง อภโย วัดชีประขาว รับตำแหน่ง ฐานานุกรมท่านที่ พระวินัยธร
อีกทั้งพระเดชพระคุณยังได้รับนิมนต์ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ ในพิธีปลุกเสกพระพุทธชินราช (อินโดจีน) ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ อีกทั้งท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับพระเกจิในยุคปัจจุบัน อีกหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อฉาบ มฺงคโล วัดศรีสาคร, หลวงพ่อแป๋ว วัดดาวเรือง, หลวงตาเบียน วัดสังฆราชาวาส และท่านอื่นๆ อีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม
❖ มรณกาล ❖
พระราชสิงหวรมุนี ได้บำเพ็ญประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนาด้วยดีตลอดมา จนเข้าสู่วัยชราภาพ จึงเกิดอาพาธด้วยโรคชรา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยหลวงพ่ออยู่ในความดูแลของลูกศิษย์คนสนิทของท่านคือ นายแพทย์ สมหมาย ทองประเสริฐ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิงห์บุรี ดูแลอย่างใกล้ชิด ครั้นพอถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓ เวลา ๐๓.๐๐ น. หลวงพ่อก็ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ คณะศิษยานุศิษย์และประชาชนชาวสิงห์บุรี ได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ณ วัดสังฆราชาวาส