ประวัติ หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก
หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ท่านเป็นพระร่วมยุคสมัยเดียวกับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน แต่ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากกว่า ดังจะเห็นได้จากพระราชพิธีพุทธาภิเษกสำคัญ ๆ ท่านจะได้รับนิมนต์ร่วมพิธีนั่งปรกปลุกเสกเสมอ เช่นพระราชพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งปวเรศและพระราชพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งสวนเต่า รัชกาลที่ ๕ หลวงพ่อทาท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากอยู่ระหว่าง พ.ศ.2400-2459 ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคต้นของจังหวัดนครปฐม และเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของจังหวัดนครปฐม ท่านเป็นพระนักปฏิบัติเชี่ยวชาญทางสมถกรรมฐาน มีพลังจิตแก่กล้า ประวัติของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ท่านเติบโตที่ตำบลบ่อผักกูด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี(นักเขียนบางท่านเข้าใจผิดว่าท่านเป็นชาวหนองเสือ ต.หนองดินแดง อ.เมือง จ. นครปฐม) บรรพบุรุษท่านเป็นชาวลาว เกิดปี พ.ศ.ใดไม่ปรากฏ เข้าใจว่าเกิดในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 ( ครองราช พ.ศ.2352-2367 )ประมาณปีพ.ศ.๒๓๖๐กว่า(อายุร่วมร้อยปี) มีพี่น้อง 4 คน เป็นชายทั้งหมด หลวงพ่อทาเป็นพี่ชายคนโต ส่วนน้องชายอีก 3 ท่านเท่าที่จำได้้ คือ หลวงพ่อคำ วัดหนองเสือ ต.หนองดินแดง อ.เมือง จ. นครปฐม ส่วนอีกสองท่านจำชื่อไม่ได้ทราบว่าท่านก็บวชเป็นพระเหมือนกัน ด้วยคุณงามความดีและความสามารถของท่าน ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และต่อมาเมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๒(ร.ศ.๑๐๘)พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูอุตตรการบดี(เจ้าคณะรองเมืองนครไชยศรี)รักษาพระปฐมเจดีย์ทิศเหนือรูปแรก เมื่อพลวงพ่อทาท่านมรณภาพ ปีพ.ศ 2459 ตำแหน่งพระครูอุตตรการบดีจึงตกแก่หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
หลวงพ่อทา เมื่อบวชแล้วชอบเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ท่านได้ร่วมเดินธุดงค์กับหลวงพ่อคำ(พระน้องชาย)มายังจังหวัดนครปฐม โดยหลวงพ่อคำได้ปักกรดลงที่วัดหนองเสือ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง ส่วนหลวงพ่อทาท่านได้ธุดงค์เลยมาปักกรดลงที่วัดพะเนียงแตก ซึ่งเป็นวัดร้างเหมือนกัน(ประมาณ พ.ศ.๒๓๙๐) วัดพะเนียงแตกตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ห่างจากตัวเมืองนครปฐมไปประมาณ 5-6 กิโลเมตร สภาพบริเวณวัดเป็นทุ่งนา ป่าละเมาะอยู่ทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า วัดพะเนียงแตกเดิมทีมิใช่ชื่อวัดพะเนียงแตก แต่ชื่อวัดปทุมคงคาราม สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดพะเนียงแตกเพราะหลวงพ่อทาเมื่อมาอยู่ที่วัดพะเนียงแตก ท่านชอบเล่นพุไฟพะเนียงมักจะเล่นในเวลาที่มีงานเทศกาล งานประจำปีของวัด มีอยู่ปีหนึ่งท่านเอามือไปปิดปากพุเป็นเหตุให้พุไม่สามารถออกจากปากพุได้เมื่อร้อนมากเข้าก็เลยระเบิดและถูกท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด (โปรดใช้พิจารณาในการอ่าน)
หลวงพ่อทา ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ท่านเป็นพระนักปฎิบัติ เชี่ยวชาญทางสมถกรรมฐาน มีพลังทางจิตแก่กล้า ด้วยสาเหตุที่กล่าวมานี้เองทำให้วัดพะเนียงแตกสมัยนั้นเป็นวัดใหญ่โตเป็นปึกแผ่นหนาแน่น มีพระบวชเก่า บวชใหม่ และพระจรมาจำวัดปีหนึ่งๆไม่น้องกว่า 70-80 รูปเสมอ กุฎิ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ ก็สร้างไว้ใหญ่โตกว้างขวางในสมัยนั้น และในบรรดาศิษย์ที่มาขอเรียนวิชากับหลวงพ่อก็มีหลายท่าน อาทิเช่น หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่อวงษ์ วัดทุ่งผักกูด และหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม
โดยเฉพาะหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง เมื่อได้อุปสมบทโดยมีหลวงพ่อทาเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ติดตามหลวงพ่อทาไปอยู่ที่วัดพะเนียงแตก เพื่อรับใช้ปรนนิบัติหลวงพ่อทา ความมุ่งหวังก็เพื่อจะขอร่ำเรียนธรรมปฎิบัติกับท่าน และข้อสำคัญที่สุดก็คืออยากจะเรียนคาถาอาคมจากท่านด้วย เพราะเป็นที่นิยมเลี่อมใสกันมากในขณะนั้น
ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านทรงโปรดปรานพระเถระผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน จะเห็นได้จากการเสด็จไปเยี่ยมพระคณาจารย์ต่างๆ หรือไม่ก็มีรับสั่งให้เข้าเฝ้า หลวงพ่อทาท่านก็เป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ให้ความนับถือ ดังนั้นพิธิพุทธาภิเษกพระกริ่งสวนเต่า รัชกาลที่5 ได้จัดพิธีพุทธาภิเษกในพระบรมมหาราชวัง(วัดพระแก้ว) หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตกท่านก็ได้รับนิมนต์ร่วมพิธีพุทธาภิเษก
นอกจากพระพุทธเจ้าหลวงจะให้ความนับถือหลวงพ่อทาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ก็ให้ความนับถือเหมือนกัน จะเห็นได้จากการที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานพระเครื่องเหรียญหล่อรุ่นแรกของหลวงพ่อทาให้แก่ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ โดยเฉพาะคณะเสือป่า
หลวงพ่อทาวัดพะเนียงแตกท่านมีความสนิทสนมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาปวเรศฯขณะนั้นท่านดำรงสมณศักดิ์เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ปีพ.ศ.๒๔๐๓ ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๔ แต่งตั้งให้เป็นสถาปนิกออกแบบองค์พระปฐมเจดีย์(วัดพระปฐมเจดีย์อยู่ห่างจากวัดพะเนียงแตก ประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร) ดังนั้นในพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งปวเรศ หลวงพ่อทาท่านก็ได้รับนิมนต์ร่วมพิธีพุทธาภิเษกด้วย และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาปวเรศฯสิ้นพระชนย์หลวงพ่อทาก็ได้รับนิมนต์ร่วมพิธีการพระศพ ดังนั้นการสร้างพระเครื่องของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จึงได้รับอิทธิพลจากวัดบวรนิเวศวิหาร พระเครื่องของท่านจึงเป็นในรูปแบบเทหล่อโบราณ