ประวัติ หลวงพ่อปลั่ง วัดคูยาง
หลวงพ่อปลั่ง(พระวิเชียรโมลี) วัดพระบรมธาตุ จ.กำแพงเพชร พระเถราจารย์อดีตเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร พระภิกษุผู้ทรงวิทยาคุณ ที่ชาวเมืองกำแพงเพชร ให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง
อัตโนประวัติ พระวิเชียรโมลี มีนามเดิมว่า “ปลั่ง” ส่วนนามสกุลนั้นยังสืบไม่ได้แน่ชัด ท่านเป็นชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิด เกิดที่บ้าน ต.ลานดอกไม้ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร (ในปัจจุบันตำบลลานดอกไม้ขึ้นอยู่กับ อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร) ในปี พ.ศ.2417 โยมบิดาชื่อ นายพุ่ม โยมมารดาชื่อ นางน้อย ครอบครัวประกอบอาชีพกสิกรรม ท่านเป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนบุตร 5 คนของบิดามารดา ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจนสามารถอ่านออกเขียนได้ที่วัดพระบรมธาตุ ในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนจัดการศึกษาเป็นหลักฐานเหมือนในปัจจุบัน เมื่ออายุครบอุปสมบทแล้ว ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดคูยาง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โดยมี พระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) วัดคูยาง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดจอก วัดเสด็จ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูชื่น วัดทุ่งสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า พรหมโชโต
ภายหลังจากอุปสมบทท่าน ได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้ที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่ระยะหนึ่งแล้วกลับมาอยู่ ที่จังหวัดตาก และได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ต่อมาท่านได้กลับมาอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรแดนมาตุภูมิอีกครั้ง โดยจำพรรษาที่วัดราษฎร์เจริญพร ตำบลหนองปลิง ก่อนย้ายไปอยู่ที่วัดอมฤต ต.ลานดอกไม้ตก จากนั้นกลับไปอยู่ที่วัดคูยางอีกครั้ง ก่อนที่จะได้รับอาราธนาให้ครองวัดพระบรมธาตุเป็นลำดับ ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2469 ครั้งแรกที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง คือ พระครูเมธีคณานุรักษ์ ตำแหน่งผู้รักษาพระบรมธาตุ รั้งตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
พ.ศ.2473 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูวิเชียรโมลี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ครั้นถึงปี พ.ศ.2478 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ที่ พระวิเชียรโมลีศรีวชิรปราการคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
พระวิเชียรโมลี (ปลั่ง) วัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นเถระผู้ทรงวิทยาคุณ ได้รับอาราธนาเข้าร่วมในพิธีปลุกเสก พระกริ่งชนะสงคราม ที่รัฐบาลในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญ นับว่าเป็นเถระผู้ทรงวิทยาคุณที่มีชื่อเสียงมากรูปหนึ่งในสมัยนั้น สมัยสงครามอินโดจีน ท่านยังได้ทำเสื้อยันต์แดง แจกทหารผู้ไปราชการสงคราม ทำให้มีผู้เลื่อมใสในตัวท่านเป็นอันมาก เนื่องจากประจักษ์ในวิทยาคม จนได้รับอาราธนาให้นั่งเครื่องบินเพื่อหว่านทรายเสกให้ประชาชนและทหารรอดพ้น จากอันตรายจากภัยสงคราม
นอกจากนี้ พระวิเชียรโมลี ยังมีวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง เป็นที่ปรารถนาของประชาชนอีกมากมาย อาทิ หนังหน้าเสือลงยันต์ นางกวัก ผ้ายันต์นกคุ่ม รูปหล่อลอยองค์ขนาดเล็กหน้าตัก 1 นิ้ว เหรียญรูปท่านรุ่นต่างๆ แหวนและพระกริ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น และในปัจจุบันนี้ ก็ยังเสาะแสวงหาครอบครองกันอยู่ แต่มีน้อยนักที่จะได้ไว้ในครอบครอง
เน้นหลักคุณธรรม คือ ความเมตตา และความเสียสละ ละความโลภในลาภสักการะได้สิ้นเชิง ท่านเดินทางไปที่แห่งใด ไม่เคยต้องพกเงินติดตัวไปเลย ด้วยมีแต่ผู้คนเอามาถวายท่าน แต่ท่านก็ไม่เคยเก็บสะสมเงินทองที่ได้มานั้นไปใช้เป็นการส่วนตัว มีแต่นำไปพัฒนาบูรณะวัดให้สวยงามเป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใสของผู้มาทำบุญที่ วัด นับว่าเป็นพระแท้ที่น่ายกย่องสรรเสริญกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจอีกรูปหนึ่ง