ประวัติ หลวงพ่อห้อง วัดช่องลม
พระครูอินทเขมา หรือ หลววพ่อห้อง วัดช่องลม ราชบุรี เจ้าของเหรียญหล่อโบราณที่มีอายุเก่าแก่เหรียญหนึ่งชาวราชบุรี เป็นเหรียญหล่อโบราณที่มีประสบการณ์สูงมาก โดดเด่นในพุทธคุณโดยเฉพาะคุณวิเศษ ทางด้านคงกระพันชาตรี ชนิดที่ว่าแมลงวันไม่ได้กินเลือด ด้วยรูปพิมพ์ลักษณะของเหรียญและประสบการณ์นี้เอง ในอดีตจึงเข้าใจผิดว่าเป็นเหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน เหรียญหล่อโบราณของพระครูอินทเขมา (ห้อง) นับได้ว่าเป็นเหรียญหล่อโบราณที่เก่าและมีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดราชบุรี
วัดช่องลม ตั้งอยู่บนถนนไทรเพชร ตำบลบ้านเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีหลวงพ่อแก่นจันทน์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายในวัด เดิมวัดชื่อ ”ช้างล้ม” ในอดีตบริเวณวัดเป็นป่าไผ่ มีโขลงช้างมาอาศัยหากินอยู่บริเวณนั้น เมื่อช้างเกิดป่วย เจ็บ และล้มตาย ก็จะตายบริเวณนั้น จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นขนานนามว่า “วัดช้างล้ม”
ปีพ.ศ.๒๔๕๗ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี ได้ประทับ ณ วัดนี้ ด้วยเหตุวัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองเป็นเหตุให้บริเวณในวัดมีอากาศร่มรื่นเย็นสบาย มีต้นไม้ใหญ่น้อยหนาแน่นมาก บริเวณวัดสะอาด และมีลมพัดเย็นตลอดเวลา สมเด็จฯท่านได้ตรัสขึ้นด้วยความสะบายใจว่า ”วัดนี้อากาศเย็นสบายเหมือนวัดช่องลม มีลมพัดผ่านตลอดเวลาทุกฤดูกาล”
เมื่อสมเด็จฯ ได้เสด็จกลับแล้ว หลวงพ่อห้อง จึงได้ปรึกษากับพระ เณร ไวยาวัจกรวัดและชาวบ้านรอบวัด และเพื่อความเป็นศิริมงคล เห็นสมควรเปลี่ยนชื่อวัดจากเดิมว่า ”วัดช้างล้ม” เป็น ”วัดช่องลม” ตามพระดำรัสของสมเด็จฯในครั้งนํ้น
วัดช่องลม สร้างเมื่อครั้งใด ไม่มีหลักฐานแน่นอน ส่วนเจ้าอาวาสที่ปรากฏหลักฐานมีดังต่อไปนี้
๑. พระอาจารย์น้อย (ครองวัดสมัยรัชกาลที่ ๑)
๒. พระอาจารย์จันทร์
๓. พระครูอินทเขมา(ห้อง พุทธสโร) พ.ศ. ๒๔๒๓-๒๔๖๙
๔. พระปลัดครื้น พุทธรักขิตะ พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๓ (น้องชายหลวงพ่อห้อง)
๕. พระราชเขมาจารย์(เปาะ อินทสโร) พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๕๑๙
๖. พระราชวรเวที กวีธะโร (เจ้าคุณเทศน์)
๗. พระครูโสภณปัญญาวัฒน์(ปัญญาทีโป) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
หลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ท่านเป็นชาวบ้านโพธิ์ (คำบอกเล่าของหลวงพ่อเปาะได้เล่าให้พระราชวรเวทีฟัง และพระราชวรเวทีได้เล่าให้คุณบุญเสริม ศรีภิรมณ์ฟัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙) ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม จังหวัดราชบุรี ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาเยี่ยมเยียน และทรงฟังพิณพาทย์ของหลวงพ่อห้อง และท่านเล่นพิณพาทเก่งมากได้ไพเราะ ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ถวายเงินเป็นรางวัลให้หลวงพ่อห้องถึงหนึ่งชั่ง
หลวงพ่อห้อง ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๘ ที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อ แสง โยมมารดาชื่อ นาค (แต่บทความของอาจารย์เภา ศกุนตะสุต ที่ท่านได้บันทึกในหนังสืออาณาจักรพระเครื่องว่าโยมบิดาท่านเป็นคนจีนชื่อ แป๊ะ โยมมารดาชื่อ ขำ อยู่ที่บ้านท่าเสา อำเภอเมือง) จากบันทึกไม่ปรากฏว่ามีพี่น้องจำนวนกี่คน แต่ที่สามารถสืบทราบได้คือมีน้องชายหนึ่งคนชื่อว่า พระครูปลัดครื้น หรือที่ชายบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อเล็ก ซึ่งต่อมาหลวงพ่อเล็กนี่เองที่เป็นเจ้าอาวาสอันดับถัดมาต่อจากหลวงพ่อห้อง (หลวงพ่อใหญ่) ผู้เป็นพี่ชาย
ปี พ.ศ. ๒๔๐๙ เมื่อท่านอายุครบบวช หลวงพ่อห้องได้อุปสมบทที่วัดช่องลม โดยมีท่านเจ้าอาวาส วัดช่องลมในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดจันทร์ วัดพญาไม้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อเรือง วัดท้ายเมือง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทธสโร”
เมื่อบวชแล้ว หลวงพ่อห้อง ท่านประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และบำเพ็ญศาสนกิจของสงฆ์ ถูกต้องตามพุทธบัญญัติทุกประการ เนื่องจากท่านปฏิบัติเคร่งในพระธรรมวินัย ทรงศีลาจริยาวัตร ปฏิบัติศาสนกิจโดยมิขาดตกบกพร่อง เมื่อท่านได้เป็นสมภารปกครองวัด ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่น พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิและอื่นๆ อีกมากมาย คณะสงฆ์เห็นคุณงามความดีของท่าน จึงแต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้
พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูอินทเขมา ตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัด
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี
พ.ศ. ๒๔๖๑ ด้วยเหตุท่านชรามาก จึงโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์
หลวงพ่อห้องเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีจริยวัตรที่น่าเลื่อมใส ท่านได้ช่วยระงับอธิกรณ์น้อยใหญ่ และบริหารคณะสงฆ์ด้วยดีเสมอมา นอกจากนี้ท่านยังได้บำรุงพระพุทธศาสนาโดยการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ภายในวัดช่องลมให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด นอกจากนี้ท่านยังช่วยเหลือวัดอื่นๆ ในจังหวัดราชบุรีตามกำลังและสติปัญญาของท่าน ในปีหนึ่งๆ จะมีผู้มาขออุปสมบท กับท่านเป็นจำนวนมาก
ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ด้วยสังขารและการทำงานอย่างหนักหลวงพ่อห้องจึงเริ่มมีอาการอาพาธ จนราวต้นเดือนพฤษภาคม หลวงพ่อห้องก็เริ่มอาพาธหนักขึ้น แพทย์มาเยียวยารักษาท่านแนะนำให้หลวงพ่อห้องฉันอาหารมื้อเย็นเพิ่ม เพื่อจะได้ช่วยให้อาการดีขึ้น แต่ด้วยท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ท่านไม่ยอมฉันอาหารเย็นเลย ท่านบอกกับลูกศิษย์ที่เฝ้าดูแลท่านว่า “ถึงแม้จะถึงชีวิตก็จะไม่ขอล่วงพระธรรมวินัยแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็จะไม่ยอม”
ในที่สุดการอาพาธในครั้งนั้น เป็นต้นเหตุให้หลวงพ่อห้อง มรณภาพในวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ในเวลาตี ๔ กับ ๕๕ นาที ในท่านั่งสมาธิ สิริอายุได้ ๘๒ ปี พรรษาที่ ๖๑