ประวัติ หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้
เมื่อเยาว์วัยพระเปลี่ยนมีนิสัยเป็นนักสู้ มีความเข้มแข็ง ทรหดอดทนเพราะเกิดในวันกล้า (วันเสาร์ห้า) จิตใจจึงกว้างขวาง เป็นนักเลงเต็มตัว ถ้าปัจจุบันนี้ก็เรียกว่า “เป็นผู้กว้างขวาง” โยมบิดาและโยมมารดาคิดวิตกว่า ต่อไปคงจะเอาดีได้ยาก เพราะรูปร่างล่ำสัน ผิวก็ดำ จึงเรียกกันว่า “ทองดำ” เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม และด้วยความที่เป็นผู้ที่มีนิสัยนักเลงนั้น จึงมีพรรคมีพวกมาสมัครมากขึ้นเรื่อย ๆ โยมบิดาจึงได้ตัดสินใจฝากให้เรียนหนังสือที่วัดใต้ หรือวัดไชยชุมพลชนะสงคราม โดยฝากเป็นศิษย์ของ ท่านพระครูวิสุทธิรังษี (ช้าง) เจ้าอาวาสและเจ้าคณะเมืองกาญจน์ในสมัยนั้น
เมื่อหนุ่มทองคำมาอยู่วัด ก็เปลี่ยนเป็นคนสุขุมมากขึ้น เยือกเย็นขึ้น หนักแน่นขึ้น มีความสุภาพเรียบร้อยและมีความโอบอ้อมอารีผิดไปเป็นคนละคน โยมบิดาเลยเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ ว่า “เปลี่ยน” นับตั้งแต่แต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อเปลี่ยนอายุครบบวช โยมบิดาจึงนำไปอุปสมบทที่วัดใต้ โดยมีพระครูวิสุทธิรังษี (ช้าง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการรอดแห่งวัดทุ่งสมอ กับพระอธิการกรณ์แห่งวัดชุกพี้เป็นคู่สวด
พระอุปัชฌาย์เห็นว่าเป็นคนชะตากล้าแข็งมาก เพราะเกิดในวันเสาร์ห้าตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าจะให้ฉายาเป็นคนวันเสาร์ ก็เกรงว่าจะกล้าแข็งมากเกินไป จึงให้ฉายาเป็นคนวันอาทิตย์ว่า อินทสโร และพระเปลี่ยน อินทสโรได้เล่าเรียนทั้งหนังสือขอมและหนังสือไทย เดิมพระเปลี่ยนมีความตั้งใจจะบวชเพียง 7 วัน แต่แล้วด้วยบุญกุศลก็เสริมให้เกิดความปักใจแน่วแน่พระเปลี่ยน อินทสโรจึงตั้งศึกษาและสืบพระศาสนาตราบจนสิ้นอายุขัย
นับตั้งแต่พระเปลี่ยนได้เริ่มบวชเรียน ได้ปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จะร่ำเรียนวิชาไหนก็สำเร็จทุกอย่าง ด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว พูดจริง ทำจริง และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ หลวงพ่อช้าง พระอุปัชฌาย์จึงตั้งให้เป็น พระใบฎีกา ฐานาของท่าน จึงเป็นกำลังช่วยท่านตลอดมา
หลวงพ่อช้างองค์นี้ เป็นพระที่มีวิทยาอาคมแก่กล้ามาก เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วทั้งเมืองกาญจน์และเมืองใกล้เคียง ก่อนจะได้เป็นเจ้าคณะเมืองกาญจน์ ได้แสดงฝีมือในทางทำน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่วัดขนอนเหนือ เมืองราชบุรี พร้อมกับหลวงพ่อกลิ่น วัดเหนือ น้ำมนต์ของสองวัดนี้ ทำแล้วไม่หก ไม่ไหล เป็นการสอบไล่ครั้งสำคัญ เพราะแต่เดิมการปกครองคณะสงฆ์เมืองกาญจน์ต้องขึ้นกับเมืองราชบุรี เมื่อชื่อเสียงร่ำลือไปถึงท่านพระครูธรรมเสนานี (ดี) วัดขนอน ซึ่งปกครองคณะสงฆ์เมืองกาญจน์ในสมัยนั้นว่า ขณะนี้ที่เมืองกาญจนบุรีมีอาจารย์แก่กล้า ๒ องค์ คือวัดใต้และวัดเหนือ เห็นสมควรจะปกครองตนเองได้ จึงได้เรียกมาทดสอบที่วัดขนอน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าเก่งกล้าจริงตามที่ร่ำลือต่อหน้าเจ้าบ้านเจ้าเมืองและประชาชนเป็นอันมาก จึงได้รับบาตรที่ทำน้ำมนต์ไม่หกมาเป็นรางวัลคนละลูกเก็บรักษาไว้เป็นอนุสรณ์ และทางการก็ได้แต่งตั้ง หลวงพ่อช้าง พระครูวิสุทธิรังษี เป็นเจ้าคณะเมืองกาญจนบุรี [1] และให้หลวงพ่อกลิ่น วัดเหนือ เป็นพระสิงคิบุรคณาจารย์รองเจ้าคณะเมืองกาญจนบุรี แต่นั้นมาการคณะสงฆ์เมืองกาญจน์ก็ไม่ต้องไปขึ้นกับเมืองราชบุรีอีก
ต่อมาหลวงพ่อช้างได้มรณภาพลง ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใต้จึงว่างลง ทางการก็ได้แต่งตั้งให้พระใบฎีกาเปลี่ยน เป็นเจ้าอาวาสสืบแทนต่อไปและได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวิสุทธิรังษี เมื่อหลวงพ่อเปลี่ยนได้เป็นสมภาร ก็พัฒนาวัดจนสวยงามยิ่งนักทั้งทางการศึกษาและฝ่ายธรรม ฝ่ายกุลบุตรก็เจริญก้าวหน้า โดยได้จัดตั้งโรงเรียนประจำจังหวัด คือโรงเรียนวิสุทธรังษี เป็นที่เชิดชูอยู่จนกระทั่งบัดนี้ และต่อมาท่านก็ได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยความดีงามของท่าน ทั่วทั้งเมืองกาญจน์ไม่ว่าวัดไหนต้องการอะไรหลวงพ่อจะช่วยจนเต็มกำลัง
ส่วนเรื่องทางไสยศาสตร์เวทมนตร์ ของหลวงพ่อใครๆ ก็รู้กันทั่วว่าเก่งจริง ในกรุงเทพฯ สมัย ร.5 – ร.6 จะมีพิธีทางไสยศาสตร์แล้ว จะขาดหลวงพ่อวัดใต้เมืองกาญจน์ไม่ได้เลย ดังปรากฏพัดรองและย่ามที่หลวงพ่อได้รับไปจากกรุงเทพฯ เช่น งานถวายพระเพลิง ร.5 งานเสวยราชย์ ร.6 งานฉลองครบ 150 ปี พัดจักรี ฯลฯ
ต่อมาหลวงพ่อเปลี่ยนได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2460 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหารฯ ให้เติมสร้อยต่อท้ายนามของหลวงพ่อว่า “พระวิสุทธิรังษี ชินศาสนโสภี สังฆปาโมกข์”
หลวงพ่อเปลี่ยนได้รับการชมเชยจาก ร.5 ในคราวเสด็จประพาสเมืองกาญจน์โดยนำพระสงฆ์ 20 รูปมาสวดมนต์รับเสด็จที่พลับพลาว่า
สวดมนต์เก่ง สวดได้ชัดเจน ตลอดจนการลีลา สังโยคน่าฟัง และขัดตำนานได้ไพเราะ
หลวงพ่อเปลี่ยนจึงได้รับของพระราชทานหลายอย่างเป็นที่โปรดปรานของ ร.6 ลักษณะของหลวงพ่อเป็นมหาอำนาจ ใครได้พบเห็นน่าเกรงขามยิ่งนัก จนถึงกับมีคำขวัญว่า “เจ้าชู้ต้องวัดเหนือ เป็นอ้ายเสือต้องวัดใต้” วัดเหนือหมายถึงพระครูอดุลยสมณกิจ (ดี) ในสมัยนั้น ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็นพระเทพมงคลรังษี เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อสืบแทนหลวงพ่อเปลี่ยน โดยปรกติหลวงพ่อเปลี่ยนเป็นพระเอางานเอาการ ปฏิบัติเคร่งครัดในระเบียบของสงฆ์โดยสมบูรณ์ ขยันทำวัตรสวดมนต์และกวดขันผู้ที่อยู่ในความปกครองอย่างมีความยุติธรรม ใครดีก็ส่งเสริม ใครเลวก็ตักเตือน หากเตือนแล้วไม่ฟังก็จะปราบอย่างเด็ดขาด จึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวกาญจน์ และเมืองใกล้เคียง สมเด็จพระมหาสมณฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศ เขียนชมเชยในตรวจการคณะสงฆ์ จ.กาญจน์ ว่า
หลวงพ่อฉลาดในการปกครองมาก แม้เมืองกาญจน์จะมีอาณาเขตกว้างขวาง ก็ปกครองด้วยความเรียบร้อย
หลวงพ่อชอบทางวิปัสสนาธุระ และได้ฝึกฝนจนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว วัดไหนจะมีพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง สร้างพระพุทธรูปต้องมานิมนต์หลวงพ่อเปลี่ยนร่วมลงแผ่นอักขระ หรือถ้าท่านว่างก็จะอาราธนามาร่วมพิธีด้วยเสมอ เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ขุนโจรชื่อดังของเมืองกาญจน์เช่น เสือสาย เสือหัด เสือแก้ว เสือหนอม และรุ่นเก่าคือ อาจารย์บัว อาจารย์บาง ก็เคารพยำเกรงหลวงพ่อเปลี่ยนมาก
พระวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินฺทสโร) ได้เจริญอายุต่อมาจนย่างเข้า 85 ปี ก็ได้อาพาธด้วยโรคชราตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 คณะแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณพยายามรักษาแต่อาการก็มีทรงกับทรุดมาโดยลำดับ และได้ถึงแก่การมรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2490 เวลา 09.25 นาฬิกา สิริอายุครบ 85 ปีบริบูรณ์ และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในปลายปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่ยิ่งของเมืองกาญจน์เลยทีเดียว แม้ว่าหลวงปู่เปลี่ยนจะล่วงลับไปนานแล้ว ทว่าเกียรติคุณของท่านยังปรากฏโด่งดังอยู่จนทุกวันนี้ [2]
เครื่องราง ของขลังของพระเปลี่ยน อินทสโร
ตะกรุดลูกอม ทำมาจากเงินและทองแดง มีฤทธิ์และมหาอุดเรื่องเมตตาเป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว กระดาษว่าวลงอักขระม้วนถักแบบหมอน ทารักปิดทองใช้ทางเมตตาและแคล้วคลาด เมื่อ พ.ศ. 2472หลวงพ่อเปลี่ยนได้แจกเหรียญรูปอามมีรูปท่านนั่งเต็มองค์บนตั่งด้านหลังมีอักขระยันต์อริยสัจ 4 คือ ทุ สะ นิ มะ อยู่ในวงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด แปลว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หนังสือไทยในเหรียญด้านหน้าเขียนว่า “พระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพร การบุรีพ.ศ. ๒๔๗๒” ตอนนั้นอายุของหลวงพ่อ 67 ปี มีคนนิยมมากมีประสบการณ์มามากเรื่องปืน มีด แล้วรับรองทีเดียว เพราะหลวงพ่อเป็นนักเลงเก่า ชอบทางคงกระพันชาตรีอยู่แล้ว เรื่องเมตตาในคาถาก็แสดงอยู่แล้วว่ามีทัง มรรคผล พร้อม พอหลวงพ่ออายุ 74 ปี ก็มีการฉลองหลวงพ่อโดยคณะศิษย์จัดขึ้น เป็นงานใหญ่มาก เจ้าใหญ่นายโตทางกรุงเทพฯออกไปในงานมากมายเช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยก็เป็นศิษย์ของท่าน มีความเคารพนับถือหลวงพ่อเป็นอย่างมาก จึงได้เครื่องรางของหลวงพ่อไว้ครบ
เสื้อยันต์ (ลงยันต์โดยพระพิลาปป่า มีกำลังมหาศาล อิทธิฤทธิ์มาก) นอกจากนี้ยังมีผ้าประเจียด ลงชานหมาก ตะกรุด ลูกอม หมอนธง มหารูด หนังหน้าผากเสือ เป็นต้น
ลูกศิษย์ที่ร่ำเรียนวิชาจากพระเปลี่ยน อินทสโร
พระเทพมงคลรังษี (ดี) วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จ. กาญจนบุรี
พระเทพสังวรวิมล (เจียง) วัดเจริญสุทธาราม บางคณฑี จ. สมุทรสงคราม
พระครูธรรมวิถีสถิตย์ (โต) วัดคู้บางขันแตก จ. สมุทรสงคราม
พระครูญาณสาคร (แฉ่ง) วัดปากอ่าวบางตะบูน ตำบลบางตะบูน อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี
พระกาญจนวัตรวิบูลย์ (สอน) วัดลาดหญ้า จ. กาญจนบุรี
พระครูวัตตสารโสภณ(ก้าน) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จ. กาญจนบุรี
พระครูวรวัฒน์วิบูลย์ วัดหวายเหนียว จ. กาญจนบุรี
พระครูยติวัตรวิบูลย์ (พรต) วัดศรีโลหะราษฎร์ ฯลฯ จ. กาญจนบุรี
พระครูสุขวรคุณ (ทวน) วัดหนองพังตรุ ฯลฯ อ.ท่าม่วง จ. กาญจนบุรี
พระครูจันทสโรภาส (เที่ยง) วัดม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ. กาญจนบุรี