ประวัติ หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก
พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก)
วัดสาวชะโงก ตั้งอยู่ เลขที่ ๑๒๓ หมู่ ๑ ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา.
นามเดิม : เหลือ นามสกุล รุ่งสะอาด เกิดวันพุธที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๐๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ (ปีจอ)
สถานที่เกิด : หมู่ที่ ๒ ตำบลบางเล่า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
บิดาชื่อ นายรุ่ง รุ่งสะอาด มารดาชื่อ นางเพชร รุ่งสะอาด
มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาจำนวน ๗ คน ดังต่อไปนี้
๑. กำนันทอง รุ่งสะอาด ๒. ผู้ใหญ่เงิน รุ่งสะอาด ๓. นางนาก รุ่งสะอาด ๔. นางมน รุ่งสะอาด ๕. พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ)
๖. นายสา รุ่งสะอาด ๗. นายปุ้ย รุ่งสะอาด
อุปสมบท
ในชีวิตเยาว์วัยของนายเหลือนั้นอุปนิสัยเป็นคนขยันขันแข็งเป็นคนที่พ่อแม่และญาติ รักใคร่ทุกคน นายเหลือก็รักชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล
เหนือสิ่งอื่นใดครั้นอายุถึงวัยเบญจเพศ ซึ่งเป็นเวลาอันสมควรแล้วที่ควรจะบวช พ่อแม่และบรรดาวงศ์ญาติก็ได้พร้อมใจกันให้อุปสมบทเสียที
โดยตั้งใจจะให้มาบวชที่วัดสาวชะโงก การอุปสมบทของนายเหลือ ก็มิใช่จัดงานอย่างมโหฬาร หรือใช้ดนดรีแห่แหนจนเป็นที่สนุกนานเหมือน
อย่างสมัยนี้ มีแต่เพียง ข้าวหม้อ แกงหมอ ลงเรือพายหัวพายท้ายนำนาคเหลือเข้าวัดขณะพายเรือมา ศัตรูเก่า ยังมาตะโกนท้าให้หยุดเรือตีกัน
เสียก่อน ฝ่ายนายเหลือก็แน่ โดยเอาตะพดคู่ใจใส่เรือมาด้วย เป็นการเตรียมพร้อม และบอกกับคนพายเรือให้หันหัวเรือไปตีกับมันก่อน
ฝ่ายญาติผู้ใหญ่ที่มาด้วยกลัวจะเกิด เป็นเรื่องใหญ่เดี๋ยวจะไม่ได้บวชจึงรีบจ้ำเรือไปวัดในที่สุดบุญกุศลก็ได้ดลบันดาลให้ไปถึงโดยสวัสดี
นาคเหลือ รุ่งสะอาด ได้ทำการอุปสมบท เข้าสู่รมกาสาวพัฒน์ ทดแทนคุณบิดามารดา เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ ขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๔ (ปีระกา)
ณ พัทธสีมา วัดสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีพระอาจารย์คง วัดใหม่บางคล้า เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการขิก
วัดสาวชะโงก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์โต วัดสาวชะโงก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา นันทสาโร สมตามความตั้งใจของ
พ่อ แม่ และครอบครัวทุกประการ
ด้านการศึกษา
พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชา ขอมบาลี และวิปัสสนาธุดงควัตร จากพระอธิการขิก จนแตกฉาน
จ้าวตำหรับปลัดขิก จากนั้นได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อดำ วัดกุฏีจังหวัดปราจีนบุรี
และท่านยังได้เดินธุดงค์ไปยังป่าเมืองกาญจนบุรี เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ เรียนวิชาอาคมกับหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จังหวัดกาญจนบุรี
อาจารย์ทั้ง ๒ องค์นี้ ได้สอนวิชาการทำตะกรุด และพระปิดตาแก่หลวงพ่อเหลือ นอกจากนี้แล้วท่านยังเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ
จังหวัดฉะเชิงเทราเก่งทางด้านทำน้ำมนต์ หลวงพ่อนก วัดสังกะสี (วัดนาคราช) จังหวัดสมุทรปราการ ลูกศิษย์หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน
จังหวัดสมุทรปราการ เก่งทางด้านการทำเสือ ได้มีการแลกเปลี่ยนวิชากัน โดยหลวงพ่อเหลือได้ให้วิชาทำปลัดขิกกับหลวงพ่อนก ส่วนหลวงพ่อนก
ได้ให้วิชาการทำเสือกับหลวงพ่อเหลือ และท่านยังเป็นสหธรรมิกที่แนบแน่นกับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองไทยอีกหลายท่าน เช่น
หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จังหวัดปราจีนบุรี หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม
หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งทุกท่านได้เดินทางไปมาหาสู่กันโดยตลอด
หน้าที่การงาน
พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังนี้
๑. เป็นรองเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงกพ.ศ.๒๔๖๑
๒. เป็นเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงก พ.ศ.๒๔๗๔
๓. เป็นเจ้าคณะตำบลบางสวน พ.ศ.๒๔๘๑
๔. เป็นพระระงับอธิกรณ์ พ.ศ.๒๔๘๑
๕. เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.๒๔๘๓
ด้านสาธารณะประโยชน์
๑. พระอธิการขิกกับพระอาจารย์เหลือ ท่านได้ร่วมกันบริจาคเงินส่วนตัวของท่านซื้อที่ดินจากนายวันกำนันตำบลสาวชะโงก ๑ แปลง (ที่ตั้งมณฑปวัดสาวชะโงกปัจจุบันนี้) เป็นเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ราคา ๔๐ บาท จัดสร้างมณฑปขึ้นอย่างสวยงาม จำลองแบบมาจากพระพุทธบาทสระบุรี ขึ้น ๑ หลัง เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๘
๒. สร้างหอสวดมนต์หลังใหญ่ที่วัดสาวชะโงกขึ้น ๑ หลังไว้สำหรับใช้เป็นพระภิกษุสงฆ์ เจริญพุทธมนต์ และฉันภัตตาหารเมื่อปี ๒๔๕๐
๓. ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดก้อนแก้ว ตำบล ก้อนแก้ว อำเภอ บางคล้า จังหวัด ฉะเชิงเทราและจัดงานผูกพัทธสีมา เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๑
๔. สร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ที่ วัดสาวชะโงก ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๒
๕. จัดตั้งที่เรียนหนังสือโดยอาศัยศาลาการเปรียญของวัดสาวชะโงกจัดหาครูมาทำการสอนกุลบุตร กุลธิดา ของชาวบ้าน ตำบลสาวชะโงกและตำบลข้างเคียง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓
๖. สร้างโรงเรียนรูปทรงมะนิลา ๒ ชั้น ขึ้น ๑ หลัง ตั้งอยู่บริเวณริมคลองหลอด ข้างวัดสาวชะโงก เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๕
๗. ร่วมร้างพระอุโบสถวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม (วัดสิบเอ็ดศอก) ตำบลคลองขุด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และจัดงานผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙
๘. ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จัดงานหล่อพระประธานขึ้นที่วัดสาวชะโงก เมื่อวันเพ็ญเดือน ๔ พร้อมกับงาน ปิดทอง รอยพระพุทธบาทจำลอง จนถึงเดือน ๑๑ ปีมะโรง จัดขบวนแห่พระประธานที่หล่อใหม่โดยทางเรือจากวัด สาวชะโงกไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม (วัดสิบเอ็ดศอก) ตำบล คลองขุด อำเภอ บ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑
๙. ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดปากด่าน (ด่านเงิน) ตำบลแปลงยาว อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และจัดงานผูกพัทธสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒
๑๐. ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดหัวสวน ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอ บางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และจัดงานผูกพัทธสีมา เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๓
๑๑. ร่วมสร้างพระอุโบสถ วัดทด ตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจัดงานผูกพัทธสีมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๔
๑๒. ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดเสม็ดใต้ ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และจัดงานผูกพัทธสีมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๕
๑๓. ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดประตูน้ำท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจัดงานผูกพัทธสีมาเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๗๗
๑๔. ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดวังเย็น ตำบลวังเย็น อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และจัดงานผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘
๑๕. ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดปากคลองหก(วัดพลอยกระจ่างศรี) ตำบลคลองหก อำเภอองค์รักษ์ จังหวัดนครนายก เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๙
๑๖. ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดแสงพุ่ม (ปลายคลองกกสับ) อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และจัดงานผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
๑๗. จัดสร้างโรงเรียนประชาบาลตามแบบ ป.๒ ของกระทรวง ศึกษาธิการขึ้นที่วัดสาวชะโงก ๑ หลังขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๒ เมตร ๒ ชั้น แล้วเสร็จในปีพ.ศ. ๒๔๘๕ ทางราชการให้ชื่อว่าโรงเรียนวัดสาวชะโงก(นันทประชาสรรค์) โรงเรียนวัดสาวชะโงกเป็นถาวรวัตถุชิ้นสุดท้ายที่หลวงพ่อจัดสร้างขึ้นไว้
หมายเหตุ
ชื่อ วัด ตำบล อำเภอ จังหวัด เขียนไว้ตามความเป็นจริงเมื่อในครั้งอดีต ปัจจุบันบางแห่งอาจได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วตามความเหมาะสม การร่วมจัดสร้างพระอุโบสถของหลวงพ่อเหลือนั้น ตามปกติท่านจะสร้างพระ อุโบสถขึ้นก่อนแล้วทำการผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต เมื่อจัดการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตแล้วพระอุโบสถยังไม่แล้วเสร็จ ท่านก็ได้ติดตามจัดการจนแล้วเสร็จทุกวัดไป
ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระระงับอธิกรณ์ : ให้พระครู เหลือ วัดสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระครูนันทธีราจารย์ขอพระคุณจงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุ สามเณรในอารามโดยสมควร
จงเจริญสุขสวัสดิ์ในพระพุทธศาสนาเทอญ
ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๘๐)
พล.อ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ผู้รับสนองราชโองการ
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
ความเมตตา
อันว่าความเมตตากรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่ ความโอบอ้อมอารีย์ หรือ เมตตาจิต มีอยู่ในพระคุณหลวงพ่อเหลือ อย่างเปี่ยมล้นเราจะเห็นได้ชัดจากสิ่งแวดล้อมทั่วๆไป เช่น เมื่อท่านพบเห็นผู้ตกทุกข์ได้ยากจะสงสารและเข้าช่วยเหลือเสมอ แม้การช่วยเหลือจะลำบากยากเข็ญอย่างไร ก็พยายามช่วยเพื่อให้ผู้นั้นพ้นทุกข์เหตุการณ์ที่น่าจะนำกล่าวคือ ท่านพบเห็นผู้ใดแจ็บป่วยมาก ท่านจะพยายามช่วยดูแลรักษาพยาบาล โดยท่านมีความรู้ในการรักษาโรคทางยาแผนโบราณและทางไสยศาสตร์เข้าประกอบด้วยกันทำให้ผู้ป่วยพ้นทุกข์ ผู้ป่วยบางรายเป็นชาย และยากจนหรือวิกลจริตหรือพิการท่านก็ได้นำมารักษาพยาบาล และเลี้ยงไว้ที่วัดเป็นประจำ ท่านได้สร้างอาชีพให้แก่ลูกศิษย์ โดยจัดซื้ออุปกรณ์ด้วยเงินส่วนตัวของท่านเองอาชีพที่ท่านสอนคณะศิษย์ มีโขนสด หนังตะลุง วงปี่พาทย์ นอกจากนี้ท่านยังได้อุปสมบท ผู้ที่ยากจนทุกรายที่มาขอความช่วยเหลือท่านจะรับไว้อุปการะทุกรายไป หลวงพ่อเหลือท่านไม่เป็นผู้โลภหรืออยากได้สิ่งใดๆท่านเคยกล่าวเสมอว่าเอกลาภใดๆที่ท่านได้มา แม้จะมากหรือมีราคาสูง เพียงใด ท่านก็ไม่ดีใจหรือจะเสียสิ้นไปจำนวนมากเท่าใดก็ไม่เสียใจ ท่านมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และห่วงใยในผู้ยากจนเสมอ ดังจะเห็นได้ว่า ในครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ในวัดสาวชะโงก จะมีต้นไม้อยู่ร่มเย็นเป็นจำนวนมากเช่น มะม่วง มะขาม มะพร้าว มะขวิด ฯลฯ ท่านไม่เคยกีดกันหรือขัดขวางผู้ใด ถึงคราวต้นไม้นั้นจะออกฝักออกผล ชาวบ้านจะเก็บไปบริโภคได้ตามความพอใจ ท่านเอื้อเฟื้อทั้งฆราวาส และภิกษุสามเณร เช่นภิกษุสามเณรหรือฆราวาสมาจากที่อื่นเมื่อมาพำนักอยู่ในวัดแล้ว ท่านจะต้องท่านจะต้องค่อยดูแลต้อนรับด้วยความห่วงใย ให้ที่อยู่อาศัย ตลอดจนของฉันบริโภค จึงเป็นที่พอใจของผู้ที่มาเยือน ด้วยคุณสมบัติของท่านที่กล่าวมานี้ ทำให้มีผู้เคารพนับถือ เดินทางไปมาหาสู่กันมากยิ่งขึ้นท่านคบหาสมาคมกับบุคคลทุกเหล่าทุกภาษา โดยไม่ถือชั้นวรรณะ แต่อย่างใด ปรากฏว่ามีบุคคลทั้งยากจนถึงมียศศักดิ์เป็น ขุน หลวง พระยา ไปมาหาสู่กับท่านเสมอ ตลอดจนถึงเชื้อพระวงศ์บางท่านที่เคารพนับถือหลวงพ่อเหลือ เช่น พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ หรือเรียกว่ากระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน เป็นต้น ท่านเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลม รอบรู้ทันเหตุการณ์ เมื่อพบเหตุการณ์เฉพาะหน้าอย่างใดก็สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยดี ในการสร้างวัตถุสถานสำคัญ เช่นสร้างพระอุโบสถในวัดต่างๆทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ก่อนจะดำเนินการ เจ้าอาวาสหรือมัคทายกของวัดนั้นๆ จะต้องมาปรึกษาหารือ และขอร้องให้ท่านช่วยเหลือด้วยความเชื่อถือ เมื่อท่านรับภาระแล้วต้องดำเนินการให้เสร็จทุกรายเริ่มตั้งแต่จัดหาจตุปัจจัย วัตถุต่างๆในการก่อร้าง จัดหาคนงานแม้จะลำบากหรือมีอุปสรรคเพียงใด ท่านก็จะสามารถ จัดการจนสำเร็จลุล่วงด้วยดีทุกครั้งไป มีการปกครองที่ดี ให้ความเที่ยงธรรมสม่ำเสมอแก่บรรดาลูกศิษย์ ทั้งฝ่ายภิกษุสามเณร และฆราวาส สามารถเปรียบเทียบคดีพิพาทระหว่างบุคคลได้ดี ไม่ว่าผู้ใดจะมีเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ตาม เมื่อถึงท่านต้องเปรียบเทียบไกลเกลี่ยแล้วเรื่องนั้นจะเรียบร้อยโดยสันติวิธีทุกรายไป ด้วยความมีเมตตาจิตของท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือ ของชาวตำบลสาวชะโงกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เขมรจอมอาคมวางยาสั่ง
เมื่อครั้งหลวงพ่อเหลือเดินทางไปธุดงค์จัดขบวน รุกขมูล ได้มีลูกศิษย์ติดตามเดินทางไปด้วยจำนวนหนึ่ง การเดินทางไปจุดนัดหมาย ที่พระพุทธบาทสระบุรีมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศได้พบเจอกันที่นั่นต่างสนทนา ปราศัยกันพอวันรุ่งขึ้นก็ต่างคนต่างเดินทางบางท่านก็ไปเขมร พม่า แล้วแต่ความต้องการ หลวงพ่อเหลือ ท่านนิยมเดินทางไปเขมร เดินทางอ้อมเข้ามาทางจังหวัดปราจีนบุรี มีครั้งหนึ่งหลวงพ่อเหลือท่านเดินทางมาถึงตอนเย็นใกล้พลบค่ำแล้ว ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ท่านกับลูกศิษย์จึงได้ตัดสินใจพักปักกลดที่อำเภอกบินทร์บุรีแห่งนี้ ชาวบ้านต่างดีอกดีใจให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ครั้นพอรุ่งเช้า ชาวบ้านต่างมีข้าวปลาอาหารมาทำบุญใส่บาตรกันอย่างมากมาย หลวงพ่อท่านพักอยู่กับคณะศิษย์หลายวัน มีอยู่วันหนึ่งถึงเวลาที่หลวงพ่อเหลือเก็บสัมภาระเตรียมพร้อมที่จะเดินทางกลับ หลวงพ่อเหลือบอกลาญาติโยม และให้พร ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งเชื้อสายเขมรมากราบ หลวงพ่อเหลือ ชายผู้นี้ต้องการทดลองว่าหลวงพ่อมีวิชาอาคมเก่งกาจขนาดไหน จึงได้ถวายกาแฟร้อนผสมยาสั่งให้หลวงพ่อฉัน ในแก้วกาแฟนั้นประกอบไปด้วยยาพิษ และกำกับด้วยอาคม หากใครได้ดื่มกินไปแล้วไปกินอะไรที่สั่งไว้ต้องตายทันที เขมรใจบาปผู้นี้ได้นำกาแฟมาถวายหลวงพ่อด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส หลวงพ่อก็รับประเคนกาแฟแก้วนั้น เมื่อลูกศิษย์เห็นดังนั้นจึงได้บอกหลวงพ่อว่าอย่าฉันกาแฟแก้วนั้นเลย ท่านจึงได้บอกกับลูกศิษย์ที่ติดตามมาว่า “รู้แล้ว” โยมเขานำมาถวายจะขัดศรัทธาเขาทำไม หลวงพ่อก็ฉันกาแฟแก้วนั้นจนหมด ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นยาพิษท่านมิได้คิดขัดศรัทธาญาติโยม จากนั้นเมื่อดื่มยาสั่งเข้าไปแล้ว หลวงพ่อท่านก็เดินทางกลับวัดสาวชะโงก โดยไม่ดื่มฉันอะไร ระหว่างทางแม้แต่อย่างเดียว ท่านได้ปรุงยาถอนพิษยาสั่งด้วยสมุนไพรใช้คาถาถอนอาคมที่กำกับไว้จนเป็นผลสำเร็จ พิษยาสั่งที่ใส่มานั้น ก็หมดฤทธิ์ลงทันที จึงเห็นได้ว่าหลวงพ่อเหลือท่านได้มีจิตใจที่เมตตาเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวิชาอาคมที่แก่กล้ายากที่ผู้ใดจะเสมอเหมือน
ยาแก้ยาเบื่อยาสั่งถอนคุณไสยทั้งปวง
๑. ว่านหางช้าง ๗ ใบ ลงด้วยพระเจ้า ๑๖ พระองค์
๒. ว่านน้ำ ๗ ใบ ลงด้วยอะสังวิสุโลปุสะพุภะ
๓. แก่นมะเกลือ ลงด้วยจะภะกะสะ
๔. แก่นปรู ลงด้วยประจุขาด
๕. แก่นขนุน ลงด้วยสังวิธาปุกะยะปะ
๖. รากท้าวยายม่อม ลงด้วยพุทธะสังมิ
๗. รากสลอดน้ำ ลงด้วยอิกะวิติ
๘. รากตองแตก ลงด้วยนะมะพะทะ
๙. ข่า ๕ ชิ้น ลงด้วยนะโมพุทธายะ
๑๐. อ้อยแดง ๓ ข้อ ลงด้วยมะอะอุ
๑๑. ยาดำหนัก ๑ บาท
** ทั้งหมดรวมกันต้มรับประทาน
งานปลงศพพระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ)
ท่านพระครูนันทธีราจารย์มรณภาพวันศุกร์ ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๒ ปีระกา เวลา ๐๔.๐๐ น. เศษด้วยโรคประจำตัว และความชราแห่งสังขารมรณกรรมของท่านยังความเศร้าโศกปริเทวนาการแก่ศิษยานุศิษย์ และบรรดาญาติมิตรที่เคารพในพระคุณของท่านเป็นอันมากประหนึ่งร่มโพธิ์ร่มไทรได้ถูกพายุใหญ่ พัดหักโค่นลง ยังคงเหลือปราฏอยู่แต่คุณงามความดีของพระคุณท่าน แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้วคุณงามความดีของหลวงพ่อฯยังไม่คงลืมเลือนไปจากความทรงจำของคณะศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือ การจัดงานปลงศพของท่านเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ โดยรับพระราชทานเพลิงจากทางราชการ งานปลงศพนี้เป็นงานใหญ่ มีศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือเดินทางมาจากไกล้และไกลเป็นจำนวนมากมาร่วมจัดงานกำหนดประชุมเพลิงตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ น. มีผู้เข้าประชุมถวายเพลิงท่าน ใช้เวลานานถึง ๓ – ๔ ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จเกียรติคุณของหลวงพ่อ มีความสำคัญเป็นเครื่องวัดคุณงามความดีของท่านได้อย่างหนึ่งว่าอัฐิของหลวงพ่อส่วนหนึ่งทางวัดได้เก็บไว้สำหรับบรรจุในพระเจดีย์ แล้ว ส่วนอื่นไม่ตกถึงพื้นดิน พื้นน้ำ โดยมีศิษยานุศิษย์ แบ่งปันอัฐิ กันไปคนละชิ้น คนละอัน จนหมดสิ้น ทางวัดได้จัดสร้างพระเจดีย์ พระครูนันทีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) แล้วเสร็จและได้บรรจุอัฐิไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของท่านสืบไป