พระครูประสาธน์วิทยาคม (หลวงพ่อนอ จันทสโร) เจ้าตำหรับตะกรุดหนังสืออันโด่งดัง แห่งวัดกลางท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
◉ ชาติภูมิ
พระครูประสาธน์วิทยาคม (หลวงพ่อนอ จันทสโร) วัดกลางท่าเรือ เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๕ ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง ณ บ้านศาลาลอย อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โยมบิดาตั้งนามว่า “นอ” บิดาชื่อ “นายสวน” มารดาชื่อ “นางพุฒ งามวาจา” ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ ในพี่น้องทั้งหมด ๘ คน
◉ ปฐมวัย
หลวงพ่อนอ ท่านเกิดมาได้ไม่นาน บิดาก็ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๖๗ ปี ส่วนโยมมารดาถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๙๗ ปีนับว่าท่านเป็นผู้ที่อายุยืนทีเดียว โดยเฉพาะตระกูลของท่านจะมีผู้ที่อายุยืนอยู่หลายคน หรือเกือบทั้งนั้น แม้แต่ตัวหลางพ่อนอเองท่านก็มีร่างกายที่แข็งแรงและสูงใหญ่ และคงจะได้อยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวประชาไปอีกนาน เมื่อยังอยู่ในปฐมวัย ท่านมีรูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ ไม่ขี้โรค เป็นเด็กเลี้ยงง่าย ไม่ร้องไห้โยเย ท่านมีนิสับประจบประแจงออดอ้อนพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี ตามประสาเด็ก จึงเป็นที่รักใคร๋ของบรรดาญาติพี่น้อง และได้รับการทะนุถนอมเลี้ยงดูอย่างดีมาตลอด
หลวงพ่อนอ ท่านเป็นเด็กที่มีเสน่ห์ ใครพบใครเห็นก็ต้องรักใครเอ็นดู และอดที่จะอุ้มชูกอดจูบเสียมิได้ ต่อเมื่อเจริญวัยย่างเข้าวัยศึกษาเล่าเรียนก็ได้รับการศึกษาจากบิดา-มารดา เมื่อท่านอายุได้ ๗ ขวบ โดยบิดามารดาได้นำไปฝากกับ หลวงลุงสวย ซึ่งเป็นพระพี่ชายของบิดาท่าน ที่วัดศาลาลอยซึ่งอยู่ข้าง ๆ บ้านนั่นเอง เป็นเวลา ๕ ปี ท่านได้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาเล่าเรียนเป็นอย่างดี ทั้งอักขรวิธี จนเป็นที่โปรดปรานรักใครของหลวงลุงมาก ท่านก็ได้พยายามพร่ำสอนให้เป็นอย่างดี ด้วยความขยันของท่าน ก็ได้เรียนจบออกมาด้วยการอ่านออกเขียนได้ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอม จึงทำให้ท่านนั้นสามารถอ่านเขียนได้คล่องแคล่ว
◉ บรรพชาอุปสมบท
จากนั้นหลวงลุงสวย ได้นำท่านไปฝากไว้กับพระมหาวงษ์สำนักวัดกษัตราธิราช ซึ่งพระมาหาวงษ์ผู้นี้เป็นผู้ที่มีความแตกฉานในทางอักษรศาสตร์และพระปริยัติธรรมอย่างเอกอุ จึงมีผู้นำบุตรมาฝากให้เรียนอยู่กับท่านเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อนอ จึงเรียนอยู่ในสำนักนี้จนอายุถึง ๑๗ ปี จึงเข้าบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งท่านบรรพชาเป็นสามเณรได้เพียง ๓ พรรษาก็มีเหตุให้ท่านต้องสึกออกมาเป็นทหารรับใช้ชาติบ้านเมือง ๒ ปี และหลังจากปลดประจำการแล้ว จึงได้เข้าอุปสมบท ที่วัดศาลาลอย โดยมี พระครูรัตนาภิรมย์ วัดศาลาลอย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดวงษ์ วัดศาลาลอย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์นาค เจ้าอาวาสวัดศักดิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “จนฺทสโร”
เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว หลวงพ่อนอ ท่านให้ความสำคัญในด้านวิปัสนากรรมฐานและสนใจศึกษาในพระเวทย์ ตลอดจนวิชาแพทย์แผนโบราณเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงแสวงหาครูบาอาจารย์ในศาสตร์ต่างๆ ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ เช่น ครูบุญ ครูปุก ครูชุ่ม อาจารย์เพิ่ม หลวงพ่อนาค หลวงพ่ออิ่ม เป็นต้น ผลแห่งความพากเพียรในการศึกษาและฝึกฝนจนชำนาญและจริงจัง ทำให้วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังที่ท่านได้สร้างขึ้นนั้น มีพุทธคุณสูงส่งและมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งว่ากันว่าเครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลของท่าน เวลาท่านปลุกเสกทุกครั้งจะมีการเคลื่อนไหวไปมาได้ราวกับมีชีวิตเลยทีเดียว
◉ มรณภาพ
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นสัจธรรม ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงพ่อนอ นั้นได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๑ ตรงกับขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย สิริอายุรวมได้ ๘๖ ปี พรรษา ๖๓