ประวัติหลวงพ่อกล่อม วัดโพธาวาส
พระครู วิธูรธรรมสาสน์ หรือ หลวงพ่อกล่อม นนฺทะ อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธาวาส ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาอาคมแกร่งกล้าและมีชื่อเสียงโด่งดังรูปหนึ่งของ ภาคใต้
ท่านเกิดในปี พ.ศ.2389 ที่บ้านริมคลองท่ากูบ ต.มะขามเตี้ย จ.สุราษฎร์ธานี
ในวัยเด็กศึกษาหนังสือไทยและอักขระสมัยที่วัดโพธาวาส เมื่อเติบใหญ่ได้แต่งงานมีครอบครัว แต่ด้วยความเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาส จึงตัดสินใจอุปสมบทเมื่ออายุได้ 24 ปี ในปี พ.ศ.2413 ณ พัทธสีมาวัดโพธาวาส โดยมีพระครูสุวรรณรังษี (มี) เจ้าอาวาสวัดโพธาวาส และเจ้าคณะเมืองกาญจนดิษฐ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่ออยู่ในสมณเพศ หลวงพ่อกล่อมเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง ต้องลงโบสถ์ทำวัตรเช้า-เย็นทุกวันไม่เคยขาด แม้จะอาพาธก็ตาม ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “วันใดที่ท่านไม่ได้ลงโบสถ์ นั่นหมายถึงวาระสุดท้ายของชีวิตได้สิ้นแล้ว” นอกจากนี้ ยังตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมและท่องบทสวดมนต์เจ็ดตำนานสิบสองตำนานจนขึ้นใจ มุ่งมั่นปฏิบัติวิปัสสนาธุระ จนเป็นที่เคารพศรัทธาของพระภิกษุ สามเณร และชาวบ้านทั้งหลาย
ต่อมาในปี พ.ศ.2432 พระครูสุวรรณรังษีย้ายไปครองวัดกลาง หลวงพ่อกล่อม จึงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโพธาวาสสืบแทน ท่านเป็นพระนักพัฒนา ทำนุบำรุงและปฏิสังขรณ์วัดให้เจริญรุ่งเรืองอยู่เสมอ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อกล่อม ชาวบ้านจึงมักเรียกชื่อท่านว่า “พ่อท่านกล่อม”
ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2475 สิริอายุ 86 ปี พรรษาที่ 62
หลวงพ่อกล่อมเป็นพระเกจิผู้ทรงวิทยาอาคม และมีชื่อเสียงโด่งดังมากเรื่อง “เรือแข่ง” ในงานประจำปีของ จ.สุราษฎร์ธานี ที่เรียกว่า “งานชักพระ” ซึ่งจะมีการแข่งขันเรือยาวกัน สมัยนั้น เรือของวัดโพธาวาสไม่มีคำว่าพ่ายแพ้ต่อผู้ใด เล่ากันว่า ท่านให้ลูกศิษย์จัดการขุดเรือขึ้นมา พอเวลาเช้าของวันแข่งขันท่านจะออกมายืนริมคลองมะขามเตี้ยแล้วบริกรรมคาถา ปรากฏว่าเรือที่จอดอยู่บนคานแล่นลงน้ำได้อย่างอัศจรรย์ นอกจากนี้ ท่านยังสามารถบริกรรมคาถาสะกดจระเข้ได้เช่นเดียวกับพ่อท่านคล้าย แห่งวัดสวนขัน ดังนั้น
วัตถุมงคลของท่านจึงเป็นที่นิยมของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและชาวสุราษฎร์ธานี อย่างสูง ส่วนใหญ่ท่านจะสร้าง ตะกรุดและสาริกาลิ้นทอง แต่ที่เป็นที่นิยมและหายากที่สุดเห็นจะเป็น “เหรียญหล่อรูปเหมือนรุ่นแรก” ที่สร้างในปี พ.ศ.2470 โดยทำการหล่อกันที่โรงครัว จึงมักเรียกกันว่า “รุ่นโรงครัว” ลักษณะเป็นเหรียญหล่อแบบโบราณทรงกลมรี หูขวาง หล่อด้วยเนื้อทองผสมเงินหัวนะโม และทองคำที่ชาวบ้านนำมาถวายใส่เบ้าหลอม พิมพ์ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อกล่อมเต็มรูป ครองจีวรรัดประคด พาดผ้าสังฆาฏิ นั่งขัดสมาธิเอามือจับเข่าทั้งสองข้าง ใต้ผ้ารองนั่งจารึกปีที่สร้าง “พ.ศ.๒๔๗๐” ขอบเหรียญภายในคู่ขนานบรรจุอักขระขอม ด้านหลัง เป็น “ยันต์ห้า” และอักขระขอม เนื่องจากเป็นการ “หล่อแบบโบราณ” เหรียญจึงมักชำรุดหรือติดไม่เต็มพิมพ์ “เหรียญหล่อรูปเหมือนพระครูวิธูรธรรมสาสน์” ที่สมบูรณ์แบบจริงๆ จึงมีน้อยมาก