ประวัติ หลวงปู่หงษ์ วัดเพชรบุรี
สำหรับประวัติของ “หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ” เดิมนามว่า สุวรรณหงษ์ จะมัวดี เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2460 ที่บ้านทุ่งมน จบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดอุทุมพร บ้านทุ่งมน ในตำบลเพชรบุรี อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่ออายุได้ 18 ปี มารดาขอร้องให้บวชเณร สุดท้ายเห็นแก่มารดาจึงตัดสินใจบวชให้แค่เพียง 7 วัน ครั้นบรรพชาแล้วพระอุปัชฌาย์ได้ตั้งนามให้ใหม่ว่า “สามเณรพรหมศร” ลุมาได้ 3 วัน ขณะนั่งบนแคร่ไม้ใต้โคนต้นมะขามใหญ่ ได้มีบุรุษหญิงชายแปลกหน้า ทั้งมีอายุแก่ และหนุ่ม แต่งกายแบบชาวบ้านมาขอร้องให้เทศน์โปรดทีเถิด สามเณรพรหมศรกล่าวว่า “ฉันพึ่งบวชได้ไม่ถึงวันยังเทศน์ไม่เป็นหรอก” ชายหญิงผู้แปลกหน้าทั้งหลายต่างให้ข้อแนะนำว่า “ท่านเจ้าคะ ท่านเทศน์ไม่เป็นก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ท่านทดลอง ว่านะโม 3 จบ ประเดี๋ยวท่านก็จะเทศน์ได้เองนั่นแหละ” สามเณรพรหมศรนั่งนิ่ง แลสงสัยว่า บุคคลทั้งหลายเหล่านี้เป็นใคร? มาจากไหน? อยู่ๆก็มาขอร้องให้หลวงพ่อเทศน์ แต่เมื่อลองคิดแล้ว เขาบอกให้ว่านะโม 3 จบ จากนั้นก็เป็นเรื่องที่ปากพูดไปได้เองเป็นเรื่องเป็นราว ชายหญิง ทั้งหลายต่างนั่งพนมมือ อมยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ครั้นเทศน์จบก็กราบขอบคุณขอลากลับ หันไปอีกทาง ปรากฏว่าหายไปทางไหนก็ไม่รู้ ผู้เขียนกราบเรียนถามหลวงปู่ว่า ทำไมสามเณรพรหมศรจึงเทศน์ได้ ท่านกล่าวว่า มันเป็นของเก่า หรือที่เรียกว่า “ธรรมบันดาล” ที่พาให้พูดกล่าวไปได้เอง ความตั้งใจที่จะบวชเพียง 7 วัน ก็อยู่เลยเรื่อยมาจนอายุครบ 20 ปี พระอุปัชฌาย์จึงอุปสมบทให้ ณ วัดเพชรบุรี ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยตั้งนามฉายาให้ใหม่ว่า “พรหมปัญโญ” แปลว่า ผู้มีปัญญาดุจพรหมเมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่เป็นผู้มีความวิริยะสูง จดท่องจำแม่นยำยิ่งนัก ทั้งฝักใฝ่หาความรู้ เพียรหาครูบาอาจารย์อย่างไม่ลดละ แม้จะไกลไปยาก ก็อุตส่าห์ดั้นด้นเดินทางไป เพื่อให้ได้ความรู้กลับคืนมาเป็นรางวัล ด้วยปณิธานมั่นที่จะโปรดลูกหลานญาติโยมในภายหน้า สืบไป
ต่อมาเมื่อบวชครบ 3 พรรษา หลวงปู่หงษ์ ได้กราบลาพระอุปัชฌาย์จาริกธุดงควัตรตามแบบฉบับแห่งพระบรมครู พักอาศัยอยู่ตามโคนไม้ หาที่สงบสัปปายะ เจริญภาวนาที่ป่าช้าตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงค่ำ ฉันภัตตาหารเพียงวันละมื้อก่อนที่จะเลือกเพียรหาในการแสวงหาความรู้สรรพศาสตร์มนตราจากครูบาอาจารย์ในเมืองขุขันธ์ จังหวัดศรีษะเกษ และได้จาริกธุดงค์ข้ามประเทศไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
หลวงปู่หงษ์ได้ศึกษาเล่าเรียน วิชาเมตตามหานิยม กำบังภัยคุ้มครองแคล้วคลาดกันจากอาวุธปืน หอก ดาบ เขี้ยว งา และการป้องกันคุณไสย หุพิธีสีผึ้งและทำน้ำมนต์รดอาบแก้สิ่งไม่ดี อีกทั้งยังมีเรื่องราวของกลุ่มโจรในประเทศกัมพูชา ที่มีวิชาอาคมแกร่งกล้า ออกปล้นสะดม จนทางการกัมพูชาต้องมาร้องขอให้หลวงปู่หงษ์ช่วยจับกุม จนกระทั่งกลุ่มโจรนี้ กว่า 50 คน ต่างก็ขอหลวงปู่หงษ์เป็นศิษยานุศิษย์ร่วมเดินรอยตามพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลก ที่มีทั้งลูกระเบิด ลูกปืนใหญ่ ตกใส่ในพื้นที่ที่หลวงปู่หงษ์อยู่กับชาวบ้านในหมู่บ้านกรู กลับไม่ระเบิด จนทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสและศรัทธากันเป็นจำนวนมาก และยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายภายหลังที่ท่านได้กลับมาจำวัดอยู่ที่“สุสานทุ่งมน” หรือ “วัดเพชรบุรี” ในตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยต่อมาหลวงปู่หงษ์ ได้รับสมณศักดิ์ในปี พ.ศ. 2523 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่”พระครูประสาทพรหมคุณ” ต่อมา ในพ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม “หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ” แห่งสุสานบ้านทุ่งมน (วัดเพชรบุรี) ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ละสังขารด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2557 สิริอายุได้ 97 ปี